(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ 2561 – 2580)

ข่าวการเมือง Tuesday June 18, 2019 17:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดการทำแผนงานรวมถึงแผนปฏิบัติการ รวมทั้งจัดทำรายละเอียดเป้าหมายรายลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

3. มอบหมายให้ สทนช. จัดทำการติดตามและประเมินผล เพื่อตอบผลสัมฤทธิ์ของ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

สาระสำคัญของเรื่อง

สทนช. รายงานว่า

1. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 กนช. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เห็นชอบในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 กนช. ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เห็นชอบในหลักการร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) และมอบให้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เป็นการปรับปรุงประเด็นหลักและรายละเอียดสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558 - 2569) ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ ด้านที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ 3 แผนย่อย ได้แก่ (1) การพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ (2) การเพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบในการใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระดับสากล และ (3) การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ ทั้งนี้ (ร่าง) แผนแม่บทฯ สรุปได้ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงเป้าประสงค์ กลยุทธ์ แผนงาน เป้าหมาย การดำเนินการของแผนงาน ทั้ง 6 ด้าน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากเดิม 34 กลยุทธ์ เป็น 28 กลยุทธ์ 54 แผนงาน

2.2 กำหนดตัวชี้วัดให้ถึงระดับผลลัพธ์ (Outcome) ในระดับแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับการประเมินผลของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19

2.3 กำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานปฏิบัติ และหน่วยงานอำนวยการขับเคลื่อนในระดับกระทรวง ประกอบด้วย สทนช. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ

2.4 วิเคราะห์การแก้ไขพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area based) 66 พื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้ง ซ้ำซาก หรือปัญหาอื่น ๆ ด้านน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเชิงบูรณาการ เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นลดน้อยลงโดยการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนเพื่อกำหนดแนวทางและการบูรณาการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ (น้ำท่วมและน้ำแล้ง) จำนวนทั้งสิ้น 53 พื้นที่ รวม 34.62 ล้านไร่ และพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 13 พื้นที่ รวม 11.29 ล้านไร่

3. (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) มีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 วิสัยทัศน์ ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิต มั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

3.2 แผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 28 กลยุทธ์ 54 แผนงาน มีเป้าหมายประสงค์และตัวชี้วัด 6 ด้าน สรุปได้ ดังนี้

แผนแม่บท

ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค

เป้าประสงค์

เพื่อจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้านหรือทุกครัวเรือน ชุมชนเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน พัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม และการประหยัดน้ำโดยลดการใช้น้ำภาคครัวเรือน ภาคบริการและภาคราชการ

ตัวอย่างตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์

1.1 สัดส่วนการเข้าถึงน้ำประปา (ร้อยละหมู่บ้านที่ก่อสร้างระบบประปา)

1.2 จำนวนแหล่งน้ำสำรอง

1.3 คุณภาพน้ำประปา

1.4 ปริมาณการใช้น้ำ/ของภาคครัวเรือน/บริการ/ราชการ

แผนแม่บท

ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต

เป้าประสงค์

เพื่อพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำใหม่ให้เต็มศักยภาพ พร้อมทั้งการจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพื่อขยายโอกาสจากศักยภาพโครงการขนาดเล็กและลดความเสี่ยงในพื้นที่ไม่มีศักยภาพ ลดความเสี่ยง/ความเสียหายลง ร้อยละ 50 รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพและปรับโครงสร้างการใช้น้ำ โดยดำเนินการร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเพื่อยกระดับผลิตภาพด้านน้ำทั้งระบบ

ตัวอย่างตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์

2.1 ปริมาณน้ำใช้การจากการปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม

2.2 มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยแล้งที่ลดลง

2.3 ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น/พื้นที่รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน

แผนแม่บท

ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

เป้าประสงค์

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (Area base) ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำสาขา/ลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

ตัวอย่างตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์

3.1 จำนวนแห่งการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ/ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ

3.2 จำนวนระบบป้องกันน้ำท่วมเมือง/พื้นที่ชะลอน้ำ

แผนแม่บท

ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

เป้าประสงค์

เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียต้นทาง การควบคุมปริมาณการไหลของน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศพร้อมทั้งฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญในทุกมิติ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ

ตัวอย่างตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์

4.1 ร้อยละน้ำที่ได้รับการบำบัด

4.2 สัดส่วนลำน้ำ/ลำคลองที่ได้รับ การฟื้นฟู

4.3 ร้อยละของปริมาณน้ำที่ได้รับ การบำบัดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์

แผนแม่บท

ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน

เป้าประสงค์

เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ลาดชัน

ตัวอย่างตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์

5.1 ปริมาณน้ำท่าที่เปลี่ยนแปลง

5.2 ปริมาณตะกอนในลำน้ำที่เปลี่ยนแปลง

5.3 จำนวนพื้นที่ป่าที่ได้รับการปลูกฟื้นฟู

5.4 จำนวนพื้นที่ที่มีการป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน

แผนแม่บท

ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ

เป้าประสงค์

เพื่อจัดตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ฯลฯ) ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาและการหาแหล่งเงินทุน พัฒนาระบบฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (คลังน้ำชาติ) สนับสนุนองค์กรลุ่มน้ำ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน การบริหารจัดการชลประทาน การศึกษาวิจัย เตรียมความพร้อม ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ พัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการบริการและการผลิต รวมถึงพัฒนารูปแบบเพื่อยกระดับการจัดการน้ำในพื้นที่และลุ่มน้ำ (เชื่อมโยงการตลาด พลังงาน การผลิต และของเสีย)

ตัวอย่างตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์

6.1 ระดับความสำเร็จของการจัดตั้งองค์กร/จัดทำแผนความร่วมมือระหว่างประเทศ

6.2 ร้อยละการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

6.3 มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทุกระดับเป็นมาตรฐาน

6.4 ระดับความสำเร็จในการจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำที่ทันสมัย

4. แนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ต่อไป สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามภารกิจและแผนแม่บทรายพื้นที่/โครงการสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำจะใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนปฏิบัติการตามภารกิจของหน่วยงานและแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ รวมทั้งจัดทำแผนบูรณาการงบประมาณประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทั้งนี้ สำหรับแผนบูรณาการงบประมาณประจำปีจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติด้วย เมื่อแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงเจ้าสังกัดจะได้ขอจัดสรรงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ (สงป.) ในการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการตามแผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนปฏิบัติการประจำปีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มิถุนายน 2562--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ