ขอความเห็นชอบเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก 2020

ข่าวการเมือง Tuesday June 18, 2019 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอให้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก 2020 สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เห็นควรให้ วธ. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปดำเนินการก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เห็นควรให้ วธ. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

วธ. รายงานว่า

1. World Association of Marching Show Band (WAMSB) ซึ่งเป็นองค์กรกลางด้านการพัฒนาและจัดการแข่งขันดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติได้เล็งเห็นถึงความพร้อมของไทยทั้งในด้านบุคลากร ความสามารถ และความพร้อมในด้านสนามแข่งขัน ที่พัก และแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ทาบทามให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก 2020 (WAMSB World Championship 2020) เป็นครั้งแรก ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย WAMSB ได้แต่งตั้งให้สมาคมดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทสากลประจำประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงาน และสมาคมฯ ได้เชิญให้ วธ. (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประกวดดังกล่าว

2. วธ. แจ้งว่า สมาคมฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของตนเองทั้งหมด เช่น การเดินทางไปประชุมต่างประเทศ การจัดอบรมครู นักเรียน ผู้ตัดสิน ค่าอุปกรณ์ดนตรีและอุปกรณ์การแสดง เป็นต้น ส่วน วธ. จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 30 ล้านบาท

3. รายละเอียดของการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดฯ ชิงแชมป์โลก 2020 สรุปได้ ดังนี้

ประเด็น/รายละเอียด

ชื่อโครงการ

โครงการจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก 2020

วันและสถานที่

29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2563 ณ กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อส่งเสริมพัฒนาเยาวชน บุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทของไทย

(2) เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ด้านดนตรีสากลของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

(3) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอันจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถด้านดนตรีของประเทศ

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์

เป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ คือ ให้เด็กและเยาวชนไทยเล่นดนตรี นาฏศิลป์ หรือศิลปะการแสดงอย่างน้อย 1 อย่าง

กลุ่มเป้าหมาย

(1) นักเรียน นักศึกษาด้านดนตรีสากล ประเภทดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ท และวงโยธวาทิต ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่น้อยกว่า 2,500 คน

(2) บุคลากรในสถาบันการดนตรีทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน

(3) ประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ด้านสังคม

(1) เยาวชนไทยมีการพัฒนาตามพหุปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพ เสริมสร้างความสามารถพิเศษด้านสุนทรียศิลป์ตามความถนัดและเป็นการส่งเสริมระบบสถานศึกษาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ

(2) เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคลากรด้านดนตรีและเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจเล่นดนตรีมากขึ้น

(3) เยาวชนไทยได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน

ด้านเศรษฐกิจ

(1) สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย

(2) ส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย โดยจะมีเงินหมุนเวียนจากผู้เข้าแข่งขัน ผู้ติดตาม และผู้เข้าชมจากนานาประเทศ

(3) ส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

แผนบริหารจัดการโครงการ

ช่วงเวลา - รายละเอียดกิจกรรม

กรกฎาคม2562

ผู้แทนไทยเข้าร่วมพิธีส่งมอบเมืองเจ้าภาพการประกวดและสังเกตการณ์การจัดการประกวดฯ ชิงแชมป์โลก 2019 ณ เมืองคาลการี แคนาดา

ตุลาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563

รับสมัครทีมตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมการประกวดฯ ชิงแชมป์โลก 2020 ทางเว็บไซต์ www.WAMSB.org

ธันวาคม 2562

ผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อรายงานและยืนยันความพร้อมในการจัดการประกวดฯ ชิงแชมป์โลก 2020 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา

กรกฎาคม 2563

การจัดการประกวดฯ ชิงแชมป์โลก 2020 ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี

สิงหาคม2563

การประเมินผลโครงการ

(1) เชิงปริมาณ โดยมีผู้เข้าร่วมการประกวดฯ จากนานาชาติ > 2,500 คน

(2) เชิงคุณภาพ โดยเยาวชนไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ > ร้อยละ 80 และ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานที่ได้รับรางวัลตามสื่อต่าง ๆ > 2 สื่อ

ความคุ้มค่า

การส่งวงโยธวาทิตของไทยไปประกวดแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 8-10 ล้านบาท/ทีม ซึ่งหากใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ก็จะส่งประกวดได้แค่ 3 ทีม แต่ด้วยงบประมาณที่เท่ากันสามารถจัดการประกวดฯ ชิงแชมป์โลกในไทยได้ และคาดว่าจะมีผู้สมัครเข้าแข่งขันทีมไทยไม่น้อยกว่า 50 ทีม และทีมต่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ทีม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มิถุนายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ