การขออนุมัติงบประมาณสำหรับสมทบในกองทุน ACMECS ระยะ 5 ปี ภายในกรอบวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday June 18, 2019 17:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการงบประมาณสำหรับสมทบในกองทุน ACMECS ระยะ 5 ปีระหว่างปี 2563-2567 ปีละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในกรอบวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์ สหรัฐสำหรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นให้กระทรวงการต่างประเทศขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามความเห็นของสำนักงบประมาณ พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำรูปแบบและดำเนินการบริหารกองทุน ACMECS รวมทั้งการหารือกับประเทศสมาชิกเพื่อสรรหาองค์กรหรือหน่วยงานที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน ACMECS (Fund Management Agency) ต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

โดยที่ไทยเป็นประธาน ACMECS วาระปี 2560-2561 ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS เพื่อระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกบรรจุในแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ.2019-2023) และร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561

ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุน ACMECS จะส่งผลดีต่อไทยและอนุภูมิภาค ดังนี้

1) เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศสมาชิก ACMECS ในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ ทั้งด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การค้า การลงทุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการติดต่อระดับประชาชน ทำให้ ACMECS สามารภเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ACMECS จะเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและของโลก เป็นสะพานเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกเป็นประชาคมที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศและส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม

2) การสมทบเงินเริ่มต้นในกองทุน ACMECS ของไทยจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยต่อนโยบายความเชื่อมโยง ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกรวมทั้งเป็นการแสดงบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้แผนแม่บท ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะผู้ให้รายใหม่ (emerging donor) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

3) กองทุน ACMECS เป็นข้อริเริ่มของประเทศสมาชิก ACMECS และบริหารจัดการโดยหน่วยงานที่ประเทศสมาชิกเป็นผู้สรรหา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของ ACMECS นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคเข้ามาเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS และสมทบเงินเข้ากองทุน ACMECS จะช่วยส่งเสริมสมดุลแห่งอำนาจ (balance of power )ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มิถุนายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ