แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ข่าวการเมือง Tuesday August 6, 2019 16:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้

1. หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561

2. แผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561

3. ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประกอบกับเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 14 แผนงานบูรณาการ นั้น

เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งหน่วยรับงบประมาณดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการให้แล้วเสร็จตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงบประมาณจึงขอเสนอ ดังนี้

1. หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561

2. แผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561

3. ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยเห็นสมควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการ จำนวนทั้งสิ้น 5 คณะ 11 ชุดย่อย โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ดังนี้

องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย

(1) ประธานกรรมการ : รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักหรือรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

(2) รองประธานกรรมการ : รัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลัก

(3) กรรมการ :

(3.1) ปลัดกระทรวงของหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักและหัวหน้าของหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้อง

(3.2) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

(3.3) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(3.4) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

(3.5) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(4) กรรมการและเลขานุการร่วม

(4.1) หัวหน้า/ผู้แทนหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลัก

(4.2) ผู้แทนสำนักงบประมาณ

(4.3) ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(4.4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์ วัตถุประสงค์ ขอบเขตภารกิจ เป้าหมายร่วม แนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเป้าหมาย และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม ครบถ้วน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

(2) ประสานหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้จัดทำโครงการ กิจกรรม และงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการดำเนินการงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามความจำเป็นและเหมาะสม

(3) พิจารณากลั่นกรองโครงการ กิจกรรม และงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามประเด็นที่ได้รับมอบหมาย

(4) จัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และแสดงผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณตามกรอบระยะเวลาของการดำเนินการ พร้อมจัดทำแผนแม่บทระยะปานกลางและระยะยาว วัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ส่งสำนักงบประมาณ

(5) บริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฟทธิ์ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้องปราศจากการทุจริต รวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อเกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการ

(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานในการปฏิบัติงาน เชิญหน่วยรับงบประมาณมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ชี้แจงรายละเอียดและข้อคิดเห็นได้ตามความจำเป็น

(7) ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค เห็นควรให้อยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 สิงหาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ