ขอความเห็นชอบและอนุมัติลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3

ข่าวการเมือง Monday October 7, 2019 17:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และอนุมัติให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ (สปป. ลาว ในฐานะเจ้าภาพการประชุมฯ ได้จัดทำร่างเอกสารฯเพื่อให้ประเทศสมาชิกลงนามในการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค 62 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว)

สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3 โดยที่ประชุมรับทราบการนำเสนอนโยบายของรัฐบาลและข้อมูลที่สำคัญซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ท้องถิ่น สิทธิพิเศษทางภาษี นโยบายการถือครองที่ดิน และ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง สรุปการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล ยูนนาน (การพัฒนาการค้า อุตสาหกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม โลจิสติกส์ และสังคม) และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ การเชื่อมโยงด้านไฟฟ้าในเขตแม่โขง - ล้านช้าง

ทั้งนี้ ยังให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม รวมทั้งได้ข้อสรุปสำหรับแผนพัฒนาระยะ 5 ปีสำหรับความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (แผนพัฒนาระยะ 5 ปี) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจข้ามพรมแดนที่มีนวัตกรรมและยั่งยืนร่วมกัน ยกระดับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม โดยเน้นการพัฒนาสาขาที่มีความสำคัญ เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป พลังงาน การท่องเที่ยว โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมการผลิต โดยมีสาขาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นคือ ยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี การแพทย์และเวชภัณฑ์ ชีวภาพ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง การยกระดับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างระบบสนับสนุนนิคมอุสาหกรรม การจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ และการจัดตั้งกลไกสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ สำหรับสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนโดยเฉพาะ อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน กลไกความร่วมมือสำหรับบริษัทและรัฐบาลท้องถิ่น การสนับสนุนเงินทุน และเสริมสร้างความรู้ เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ