มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2

ข่าวการเมือง Tuesday October 22, 2019 16:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” 2) มาตรการลดภาระเพื่อที่อยู่อาศัย 3) มาตรการเพื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. 4) มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (Front Load)

2. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการในมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” โดยมีเป้าหมายตามที่กระทรวงการคลังขยายเพิ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ไม่เกิน 3 ล้านคน คิดเป็นวงเงินที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจำนวน 1,000 บาทต่อคน รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,000,000,000 บาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท และส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,000,000,000 บาท ใช้จ่ายจากงบประมาณ ของ ททท. ที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้แล้วจำนวน 10,000,000,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีเหลือเพียงพอ สำหรับค่าใช้จ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ ร้อยละ 15 และร้อยละ 20 ของยอดที่ชำระเงินจ่ายจริง เห็นควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และปีต่อ ๆ ไป จำนวน 1,182.18 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ทั้งนี้ ให้ ธอส. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป

4. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

สาระสำคัญ

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยบรรเทาภาระ ค่าครองชีพให้แก่ประชาชนให้สามารถดำรงชีพได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทรวงการคลังเห็นสมควรเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ)

1.1 เรื่องเดิม :

(1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และ 10 กันยายน 2562 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการฯ) เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 10 ล้านคน เพื่อใช้จ่ายในจังหวัดที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (g-Wallet) ดังนี้

(1.1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 1,000 บาท ต่อคน

(1.2) กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักรวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)

การซื้อสินค้าและบริการตามข้อ (1.1) และ (1.2) ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวจากบัญชี g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงิน 19,093.50 ล้านบาท สำหรับดำเนินมาตรการฯ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,043.50 ล้านบาท สำหรับวงเงินส่วนที่เหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดเงินที่จ่ายจริง จำนวน 9,050 ล้านบาท ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป

(2) กระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขให้การใช้จ่ายตามข้อ (1.1) เป็นการใช้จ่ายในจังหวัดที่เลือกตอนลงทะเบียน 1 จังหวัดที่มิใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน และการใช้จ่ายตามข้อ (1.2) สามารถเลือกใช้จ่ายในจังหวัดใดก็ได้ที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายไปสู่เศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ที่ต้องใช้ภายใน 14 วันนับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ ข้อยกเว้นการใช้สิทธิ์ g-Wallet ช่อง 2 โดยการใช้จ่ายค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ค่าบริการนำเที่ยวที่ไม่ใช่บริการนำเที่ยวในท้องถิ่นนั้นจะไม่ได้รับเงินชดเชย เป็นต้น

(3) การดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคนแล้ว จากที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์แล้ว 8,665,849 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,443 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายตามข้อ (1.1) ผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,321 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายตามข้อ (1.2) ผ่าน g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 38,545 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 122 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายกระจายสู่ทุกภูมิภาคครบ 77 จังหวัด ซึ่งการใช้จ่ายที่กรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 13 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ โดยคิดเป็นร้อยละ 82 ส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 18 ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมีความคุ้มค่า เนื่องการก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiple Effects) อันจะทำผลกระทบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าภายใต้เงื่อนไขประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60 ของวงเงินที่ได้รับ

1.2 วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น

1.3 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 3 ล้านคน

1.4 ระยะเวลาโครงการ : ขยายระยะเวลามาตรการฯ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

1.5 วิธีดำเนินโครงการ :

(1) ขยายการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ สำหรับประชาชน จำนวน 1 ล้านคน และเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จำนวน 2 ล้านคน โดยผู้ลงทะเบียนใหม่ทั้ง 3 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 1.1 (1) (1.1) เช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรก

(2) ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามข้อ 1.1 (1) (1.2) โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน) ซึ่งรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรก ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์

(3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน และเงินชดเชยที่ได้รับให้ครอบคลุมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

(4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ให้ความอนุเคราะห์การตรวจสอบข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ

2. มาตรการลดภาระภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย

2.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่สร้างเสร็จพร้อมอยู่

2.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย

2.3 ระยะเวลาโครงการ : วันที่ประกาศกระทรวงหาดไทยมีผลบังคับใช้ – วันที่ 24 ธันวาคม 2563

2.4 วิธีการดำเนินโครงการ : ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน

2.5 สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,652.20 ล้านบาท จากการปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์

3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. (มาตรการสินเชื่อฯ)

3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน

3.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย

3.3 ระยะเวลาโครงการ : คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ – วันที่ 24 ธันวาคม 2563

3.4 วิธีดำเนินโครงการ : ธอส. จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน ให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ทั้งนี้ การขอสินเชื่อและการให้สินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธอส.

3.5 งบประมาณ : รัฐบาลชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่ ธอส. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,182.18 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ ธอส. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป

4. มาตรการการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (Front Load)

4.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

4.2 กลุ่มเป้าหมาย : หน่วยรับงบประมาณ

4.3 ระยะเวลาโครงการ : เดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม 2562 (2 เดือน)

4.4 วิธีดำเนินโครงการ : หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ