การเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council : AWC)

ข่าวการเมือง Tuesday October 22, 2019 18:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council : AWC) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

AWC เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและเป็นเครือข่ายของสภาน้ำโลก ตั้งอยู่ ณ เมืองแทจอน สาธารณรัฐเกาหลี มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและรองรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง การสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหา และเพื่อก่อตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในเอเชียและองค์กรนานาชาติเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมถึงเป็นการดำเนินการแก้ปัญหาด้านน้ำที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งตรงกับภารกิจของ สทนช.ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล

โดยโครงสร้างการบริหาร ประธานมาจาก Korea water Resources Corporation: K-water (หน่วยงานจัดการน้ำของสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นศูนย์จัดการความรู้เรื่องการบริหารคุณภาพน้ำในภูมิภาค) คณะกรรมการสภา (Board of Council) คณะผู้บริหาร (คณะกรรมการบริหาร) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก และมีคณะกรรมการด้านวิชาการ 6 ด้าน (ด้านนโยบายและวางแผน ด้านอาหาร น้ำ พลังงาน ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านระบบนิเวศ และด้านองค์ความรู้และการเผยแพร่) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย องค์กร สถาบันการศึกษา 110 แห่ง หน่วยงานภาครัฐ 18 แห่ง และองค์กรนานาชาติ 22 แห่ง ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นสมาชิกแล้วมี 3 ประเทศ ได้แก่ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำของประเทศอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกAWC จะทำให้มีสิทธิ์ออกเสียงและเลือกตั้งกรรมการบริหาร การสมัครเป็นกรรมการบริหารและกรรมการวิชาการ รวมทั้งการสมัครแข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้

1. เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาขีดความสามารถทางด้านงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรม จากการส่งผู้แทนประเทศเข้าร่วมกิจกรรม

2. เป็นการแสดงบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาด้านน้ำ และการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย

3. ส่งเสริมและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญไทยด้านน้ำด้วยการส่งเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ

4. ใช้โอกาสดังกล่าวสร้างและหรือขยายเครือข่ายภาคีด้านน้ำ ของประเทศไทยในระดับภูมิภาค ให้แน่นแฟ้นและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ