รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม – มิถุนายน 2562) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (กระทรวงการคลัง)

ข่าวการเมือง Tuesday October 29, 2019 18:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอรายงานประจำครึ่งปี (มกราคม – มิถุนายน 2562) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ภาวะเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังของ ปี 2561 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยสาเหตุมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าสำคัญและปริมาณการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยวที่ลดลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยกำลังซื้อของครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่ง มีปัจจัยมาจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2561 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเนื่องจากแนวโน้มการส่งออกและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมขยายตัวและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าเช่าบ้าน ขณะที่อัตราการว่างงานยังทรงตัวในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องและสามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ในระดับต่ำ และสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับสูงตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ

2. การดำเนินงานของ ธปท. โดยมีการจัดทำแนวทางการดำเนินงานและประเมินผล 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (2) ด้านสถาบันการเงิน และ (3) ด้านนโยบายระบบ การชำระเงิน สรุปได้ ดังนี้

ด้าน - แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล

(1) นโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

นโยบายการเงิน : คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) (กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 ? 1.5) ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาเป้าหมายเป็นหลักควบคู่กับการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 กนง. ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี

นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน : ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 กนง. ติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร กนง. จึงสนับสนุนให้ ธปท. เตรียมมาตรการต่าง ๆ สำหรับดูแลการไหลเข้าของเงินทุนในระยะสั้น รวมถึงผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้เอกชนบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ กนง. ได้ติดตามพัฒนาการและประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างต่อเนื่องด้วย

(2) สถาบันการเงิน

1. การติดตามและประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. พบว่า ภาพรวมของระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความเสี่ยงบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางต่อระบบการเงินในอนาคต ได้แก่ หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง มาตรฐานสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่ธนาคารลดลง ความเสี่ยงอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2. การออกนโยบายกำกับสถาบันการเงิน ได้แก่ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (สามารถช่วยลูกหนี้ให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จรวม 1,547 ราย มีลูกหนี้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 35 ราย) ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทางการเงิน ขยายขอบเขตการกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำความรู้จักลูกค้าและการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลสถาบันการเงินระหว่างธนาคารกลางในภูมิภาค

3. การดำเนินนโยบายสถาบันการเงินในเวทีระหว่างประเทศ ธปท. ได้เจรจาเปิดเสรีภาคทางการเงิน โดยเจรจาเกี่ยวกับการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

4. การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ การสนับสนุนบริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและสนับสนุนการธนาคารที่ยั่งยืน

5. ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเสถียรภาพ โดยเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ชะลอตัว สินเชื่ออุปโภคเติบโตเล็กน้อย คุณภาพสินเชื่อมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาพรวมทรงตัว

(3) นโยบายระบบการชำระเงิน

1. โครงการระบบพร้อมเพย์ (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562) มียอดการลงทะเบียนใช้บริการจำนวน 48.8 ล้านเลขหมาย โดยมีปริมาณธุรกรรมโอนเงิน 2.2 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 11.3 ล้านล้านบาท

2. การดำเนินการตามกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ของแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 ธปท. ได้จัดทำและเผยแพร่แผนกลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งมีเป้าหมายให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกัน เช่น การใช้มาตรฐาน Thai Standard QR Code สำหรับการชำระเงินและโอนเงิน (2) การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการการชำระเงิน เช่น ผลักดันการพัฒนาบริการชำระเงิน/โอนเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Code (3) การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านสื่อต่าง ๆ (4) การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง ได้แก่ กำกับดูแลระบบการชำระเงินของไทยตามมาตรฐานสากล (IMF และ World Bank) และออกประกาศกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และ (5) การพัฒนาข้อมูลการชำระเงิน โดยอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการข้อมูลการชำระเงิน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ