ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ

ข่าวการเมือง Tuesday November 19, 2019 17:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำไปรวมกับร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561) โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ควบคู่กันทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้

1. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกิจการที่มีผลให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย เมื่อบริษัทผู้รับโอนกิจการมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้เอาประกันภัย พร้อมแจ้งสิทธิให้ผู้เอาประกันภัยคัดค้านแล้ว หากไม่มีการคัดค้านให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย

2. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัทสามารถจดทะเบียนควบรวมกิจการได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ทุกรายให้ ความยินยอมเป็นหนังสือโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลาคัดค้าน

3. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัที่รับโอนกิจการสามารถเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทที่โอนกิจการในคดีที่มีการฟ้องร้องในศาลได้ และสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้

4. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษในกรณีดังต่อไปนี้

4.1 กรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของบริษัท และบุคคลที่บริษัทมอบหมาย แสวงหาประโยชน์อันมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัย หรือประชาชน

4.2 ผู้ก่อให้หรือสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่แจ้งให้ นายทะเบียนทราบเมื่อพบเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจัดทำรายงาน รับรอง หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทเป็นเท็จ หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน (ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตฯ)

4.3 ผู้ก่อให้หรือสนับสนุนให้ผู้ประเมินวินาศภัยทำรายงานการตรวจสอบและประเมินวินาศภัยเป็นเท็จ หรือก่อให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบเมื่อพบเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจัดทำรายงาน รับรอง หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทเป็นเท็จ หรือก่อให้หรือสนับสนุนให้กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้เอาประภันภัยหรือประชาชน (ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ)

4.4 ผู้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่

4.5 ผู้ทำลาย ทำให้เสียหาย ซึ่งตราหรือเครื่องหมายที่นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับไว้

5. แก้ไขบทบัญญัติให้การกระทำความผิดของกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของบริษัท บุคคลที่บริษัทมอบหมาย บุคคลที่ก่อหรือสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำผิดกฎหมาย และผู้ซึ่งกระทำความผิดต่อนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย เป็นความผิดที่คณะกรรมการเปรียบเทียบ ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ไม่อาจเปรียบเทียบได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ