การพิจารณาความเหมาะสมของอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน

ข่าวการเมือง Tuesday November 19, 2019 17:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการพิจารณาความเหมาะสมของอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคงไว้ที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 (เรื่อง การดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555) ที่กำหนดให้ กค. และ ธปท. พิจารณาความเหมาะสมของอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งของ ธปท. โดยให้แจ้งความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยเป็นรายปี ซึ่ง กค. และ ธปท. ได้พิจารณาแล้วสรุปผลได้ ดังนี้

1. การกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้กับ ธปท.

ธปท. มีอำนาจเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงิน เป็นอัตราร้อยละต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามที่ ธปท. ประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากต้องไม่เกินร้อยละหนึ่งต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 และ ธปท. ยังได้ประกาศกำหนดอัตราเงินนำส่งที่สถาบันการเงินจะต้องนำส่งเงินให้แก่ ธปท. ในอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี ของ (1) ยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครอง และ (2) ยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 (รายละเอียดตามประกาศ ธปท. ที่ สกส. 3/2555 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินนำส่ง หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการส่งเงินนำส่ง และการนำส่งเงินเพิ่มเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2555)

2. การชำระคืนต้นเงินกู้ที่ กค. กู้ และยอดคงค้างต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3

ตั้งแต่พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ (วันที่ 27 มกราคม 2555 – 31 กรกฎาคม 2562) ได้มีการชำระคืนต้นเงินกู้ที่ กค. กู้ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF3) เป็นจำนวน 304,389.68 ล้านบาท แต่ยังมียอดคงค้างต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 อีกจำนวนทั้งสิ้น 819,616.21 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับ ธปท. นั้น ธปท. ได้นำเงินดังกล่าวไปชำระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการเกี่ยวกับ FIDF1 และ FIDF3 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 366,867.67 ล้านบาท

3. การพิจารณาความเหมาะสมของอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินและประเมินระยะเวลาในการชำระคืนเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 ตามความเห็นของ ธปท. ดังนี้

เรื่อง / ความเห็น ของ ธปท.

1. อัตราเรียกเก็บเงินนำส่ง

เห็นควรให้คงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี สำหรับปี 2562 – 2563 เนื่องจากภาระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ยังคงเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในระดับสูง และเงินนำส่งจากสถาบันการเงินยังเป็นแหล่งเงินสำคัญในการลดต้นเงินและชำระดอกเบี้ย หากปรับลดอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจะส่งผลกระทบต่อการลดภาระหนี้ ซึ่งปัจจุบันฐานเงินฝากสำหรับคำนวณเงินนำส่งยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้

2. ระยะเวลาการชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF3

คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 เสร็จสิ้นภายในปี 2574 โดยมีสมมติฐานและศักยภาพในการชำระเงินจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้

(1) เงินนำส่งจากสถาบันการเงิน (แหล่งหลักในการชำระหนี้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย) โดยมีสมมติฐานอัตราการขยายตัวของฐานการคำนวณเงินนำส่งจากสถาบันการเงินอยู่ที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี (ปี 2562 – 2574)

(2) ประมาณการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ เงินกำไรสุทธิของ ธปท. (ไม่มีเงินนำส่ง เนื่องจากมีผลขาดทุนสะสมจำนวนสูง) เงินจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี (ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดการเงิน ซึ่งมีความผันผวนสูง และเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฯ [ปีงบประมาณ 2563 กองทุนฯ จะนำส่งจำนวน 6,700 ล้านบาท ปีต่อ ๆ ไป คาดว่าจะนำส่งประมาณ 5,000 ล้านบาท ภายใต้ สมมติฐานที่กองทุนฯ ยังคงถือหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)]

(3) ประมาณการดอกเบี้ยจ่ายปีงบประมาณ 2563 – 2574 ประมาณ ปีละ 30,000 ล้านบาท (ทยอยลดลงตามการชำระคืนต้นเงินกู้)

4. ความเห็นของ กค.

ไม่ขัดข้องกับผลการพิจารณาของ ธปท. ที่เห็นควรให้คงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับ ธปท. ไว้ที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี เนื่องจากยังคงมีความเหมาะสมภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของฐานเงินฝากที่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินทั้งในประเทศและตลาดการเงินโลก และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 (เรื่อง การดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555) ดังนั้น กค. จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบการคงอัตราเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินให้กับ ธปท. ไวที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ