รายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ

ข่าวการเมือง Tuesday November 19, 2019 17:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน [กรณีกรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจจะประกาศห้ามใช้]

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน [กรณีกรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พาราควอต (paraquat) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจจะประกาศห้ามใช้] ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สธ. รายงานว่า ได้จัดประชุมหารือร่วมกับ กษ. อก. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 สรุปผลการพิจารณาได้ว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สธ. เฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เมื่อพิจารณาผลจากการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ไกลโฟเสต (Glyphosate) และคลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyriphos) จากข้อมูลพิษวิทยาจากต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลจากกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร โดยผลจากการตรวจระดับเอนไซม์อะซีติลโคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2562 พบว่า ในแต่ละปีเกษตรกรประมาณร้อยละ 30 ของผู้ได้รับการตรวจมีระดับเอนไซม์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงกว่าคนทั่วไป และอยู่ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนั้นสัดส่วนของเกษตรกรที่มีความเสี่ยงจะเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและสถานการณ์เจ็บป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชที่รายงานสถานการณ์โรคของ สธ. จากหน่วยบริการทั่วประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2562 พบว่า มีอุบัติการณ์ระหว่าง 8.9 – 17.12 รายต่อแสนประชากร หรือ ประชาชนประมาณ 10,000 รายต่อปี ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์ประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียดพบว่า ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีมักจะเจ็บป่วยจากการฉีดพ่นพาราควอต (paraquat) จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อยหรือในนาข้าวเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าทางการเกษตรมีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้ ผู้สัมผัสและผู้บริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนวัตถุอันตรายดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลงานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบสารพาราควอตในขี้เทาทารกแรกเกิด ซึ่งจะมีผลต่อการถูกทำลายของต่อมไร้ท่อในลูกอัณฑะทำให้มีอสุจิลดลง และต่อมไทรอยด์ทำให้มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่ทำให้เกิดปัญญาอ่อน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและภาวะการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคต

2. สธ. เห็นว่า การใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต (paraquat) ไกลโฟเสต (Glyphosate) และคลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyriphos) เป็นการก่อให้เกิดโรคจากสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกัน และควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ จึงเห็นควรยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ทันที

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ