มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562

ข่าวการเมือง Tuesday November 26, 2019 17:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบในหลักการมาตรการ/โครงการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และอนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีต่อ ๆ ไป 30,833.94 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวน 707.7 ล้านบาท โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ในส่วนเพิ่มเติม จำนวน 2,667.35 ล้านบาทและโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 27,458.89 ล้านบาท ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

สาระสำคัญ

เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังคงมีแนวโน้มชะลอตัว และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ กระทรวงการคลังเห็นสมควรเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย และโครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ

1.1 โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน มีรายละเอียดดังนี้

1) กลุ่มเป้าหมาย : กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้าน) ที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A B และ C ตามผลการประเมินศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ปี 2555 จำนวน 71,742 แห่ง

2) วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชนและใช้แรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น

3) วิธีดำเนินการ : จัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 14,348.4 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนหรือดำเนินกิจการอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ การดำเนินการตามโครงการนี้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนดโดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุน ความโปร่งใสรวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบและรายงานผลสัมฤทธิ์ของโครงการเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี

4) กรอบระยะเวลาดำเนินการ : การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือดำเนินกิจกรรมจากเงินสนับสนุนของรัฐบาลต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน จึงให้ดำเนินการเบิกจ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรเงิน

5) งบประมาณ : 14,491.4 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) เงินลงทุนให้กองทุนหมู่บ้าน กองทุนละ 200,000 บาท จำนวน 14,348.4 ล้านบาท และ 2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 143 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้ สทบ.หารือกับสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการ และในกรณีที่ สทบ. มีความต้องการงบประมาณเพิ่มเติมให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

1.2 โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) โดยเป็นการให้สินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร SMAEs วงเงินโครงการ 45,000 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณชดเชยจำนวน 4,875 ล้านบาท สิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สรุปผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ธ.ก.ส. ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1,740 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือประมาณ 43,260 ล้านบาท

เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ครอบคลุมถึงกลุ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จึงเห็นควรขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ของโครงการ XYZ โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มวงเงินสินเชื่อรวมจากที่เหลืออยู่ 43,260 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปอีก 3 ปี พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1) กลุ่มเป้าหมาย : สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร

2) วงเงินสินเชื่อ : 50,000 ล้านบาท

3) ระยะเวลาดำเนินโครงการ : ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

4) งบประมาณ : ธ.ก.ส. ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 707.7 ล้านบาท ((50,000-43,260)*3.5%*3 ปี)

1.3 โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ

1) กลุ่มเป้าหมาย : สมาชิกของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่สมัครใจเข้าร่วมมาตรการ

2) วัตถุประสงค์ : เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ผ่อนคลายภาระการชำระหนี้ที่มีกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาประกอบอาชีพสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและหนี้นอกระบบ

3) วิธีดำเนินการ : กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพักชำระหนี้หรือลดภาระหนี้เงินกู้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้กับสมาชิกที่มีความเดือดร้อนจำเป็นตามความเหมาะสม โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด

4) กรอบระยะเวลาดำเนินการ : กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแต่ละแห่งกำหนดระยะเวลาดำเนินการโครงการของตนตามความเหมาะสม

5) งบประมาณ : ไม่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ

2. มาตรการลดภาระหนี้ผู้ประกอบการ SMEs

เพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Amall and Medium Enterprises : SMEs) ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจและดำรงชีวิตต่อไปได้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ตามความสมัครใจภายในปี 2563 ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการดังกล่าวให้ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐ

3. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

3.1 ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63

1) ความเป็นมา : คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 และ 27 สิงหาคม 2562 รับทราบและเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการหารือการดำเนินโครงการดังกล่าว วงเงินงบประมาณ 25,427.48 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบวงเงิน 25,482.06 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว มีวงเงินที่ใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปก่อน จำนวน 24,810.49 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ปี 2561 จำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน

2) สาระสำคัญ : ผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.15 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวน 24,662.60 ล้านบาท คงเหลือวงเงินงบประมาณ 147.89 ล้านบาท และ กสก. ได้ประมาณการจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 รวมทั้งคาดการณ์จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ตกหล่นเพิ่มขึ้นเป็น 4.57 ล้านครัวเรือน จึงมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มอีก 0.26 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้งบประมาณที่ยังคงเหลือไม่เพียงพอในการจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562 กับ กสก. ประกอบกับระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรภาคอื่น ๆ กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จึงจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรสำหรับภาคอื่น ๆ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563 และกรณีเกษตรกรขึ้นทะเบียนมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ และให้ ธ.ก.ส. นำค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้นจริงจากการจ่ายเงินดังกล่าวไปรวมกับการขอจัดสรรงบประมาณประจำปีของโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63

3) งบประมาณ : ธ.ก.ส. ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวนทั้งสิ้น 2,667.35 ล้านบาท

3.2 โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

1) ความเป็นมา : ธ.ก.ส. มีบันทึก ที่ ฝนร/26584 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อเสนอโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 โดยมีอัตราให้ความช่วยเหลือที่ 500 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 27,458.89 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่จ่ายให้เกษตรกร 26,793.02 ล้านบาท

2) วัตถุประสงค์ : เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

3) กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับ กสก. จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท

4) ระยะเวลาโครงการ : ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 – 30 กันยายน 2563

5) วิธีดำเนินโครงการ : กสก. นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับ กสก. ให้ส่ง ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้พิจารณาว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการเก็บเกี่ยวจริง และไม่ซ้ำซ้อนกับการจ่ายเงินภายใต้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาล เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

6) งบประมาณ : วงเงินงบประมาณรวม 27,458.89 ล้านบาท

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีถัด ๆ ไป เพื่อรัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

4. มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย

1) วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและอยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) รวมถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดภาระของประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

2) กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยมุ่งเน้นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือ ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และเป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 ราย

3) ประเภทที่อยู่อาศัย : ที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว ห้องชุด และอาคารพาณิชย์ สำหรับที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ไม่รวมที่อยู่อาศัยมือสองและทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets: NPA) ของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ และไม่รวมทรัพย์รอการขายของกรมบังคับคดี

4) วิธีดำเนินโครงการ : ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร และมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และผ่านเกณฑ์ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะได้รับสิทธิผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดย ธอส. จะโอนเงิน จำนวน 50,000 บาท เข้าบัญชีของผู้ได้รับสิทธิ เพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back)

5) งบประมาณ : ธอส. ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธอส. จะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ