การแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน

ข่าวการเมือง Tuesday December 3, 2019 18:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไปตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน (สคจ.) ซึ่งได้เดินทางมาชุมนุมบริเวณถนนลูกหลวง (ข้างกระทรวงศึกษาธิการ) ตั้งแต่วันที่ 6 - 23 ตุลาคม 2562 จำนวนประมาณ 400 คน ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องและพบปะเจรจากับ สคจ. และได้ประชุมหารือร่วมกันหลายครั้งโดยได้ข้อสรุปผลการเจรจาแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นซึ่ง สคจ. พอใจและยุติการชุมนุมเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันที่ 23 ตุลาคม 2562 ในการนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดทำสรุปกรณีปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายของ สคจ. รวม 35 เรื่อง แบ่งเป็น 5 กรณี ดังนี้

กรณีปัญหา/หน่วยงาน

1. กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฝายและอ่างเก็บน้ำ (จำนวน 7 เรื่อง)

หน่วยงาน : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพลังงาน

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ สคจ.

รัฐบาลต้องระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนทุกเขื่อนในประเทศจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศใช้กฎหมายให้คนจนมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแล้วเสร็จ

2. กรณีปัญหาราคาสินค้าเกษตร (กรณีมะพร้าวราคาตกต่ำของเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) (จำนวน 1 เรื่อง)

หน่วยงาน : กษ. กระทรวงพาณิชย์

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ สคจ.

เช่น

(1) รัฐบาลต้องยกเลิกหนี้สินที่ไม่เป็นธรรมให้เกษตรที่เป็นสมาชิก สคจ. ซึ่งเกิดจากแนวทางการพัฒนาที่ผิดพลาดของรัฐ

(2) รัฐบาลต้องประกันราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย ยางพารา มะพร้าว

(3) รัฐบาลต้องยุติการนำเข้าและห้ามใช้สารเคมีอันตรายในพื้นที่เกษตร เช่น พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส

3. กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐด้านอุตสาหกรรมและคมนาคม (จำนวน 2 เรื่อง)

หน่วยงาน : กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ สคจ.

รัฐบาลต้องยุติโครงการพัฒนาทั้งของรัฐและเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรวมถึงโครงการที่เข้าบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ชุ่มน้ำ และในที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. กรณีปัญหาที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐรวมทั้ง การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน (จำนวน 17 เรื่อง)

หน่วยงาน : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงการคลัง

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ สคจ.

เช่น (1) รัฐบาลต้องยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและการบริหารที่ดิน และนโยบายทวงคืนผืนป่า

(2) รัฐบาลต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ. ศ. 2511 และดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของสมาชิก สคจ. ในเขตพิพาท โดยกันออกจากเขตป่า แล้วนำมาจัดให้ประชาชนภายใต้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ฉบับที่ปรับปรุงแก้ไข

5. กรณีปัญหาแรงงาน (จำนวน 8 เรื่อง)

หน่วยงาน : กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ สคจ.

เช่น (1) รัฐบาลต้องปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 [เช่น (1.1) ให้สำนักงานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนออกจากระบบราชการ และจัดตั้งองค์กรมหาชนขึ้นมารับผิดชอบแทน คณะผู้บริหารประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งจากลูกจ้างและนายจ้างโดยตรง (1.2) ให้จัดตั้งโรงพยาบาลและจัดให้มีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ประจำโรงพยาบาลเฉพาะสำหรับผู้ประกันตนให้ทั่วถึงและเพียงพอ (2) รัฐบาลต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ