การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562

ข่าวการเมือง Wednesday December 11, 2019 19:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ที่ได้รับจากมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562)

2. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีต่อ ๆ ไป จำนวน 29,126.24 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ในส่วนเพิ่มเติม จำนวน 2,667.35 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

สาระสำคัญ

กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎกระทรวงฯ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่ง นบข. มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ที่ได้รับจากมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562)

1) สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ : กำหนดให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการสนับสนุนตามมาตราการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งได้รับโอนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวนห้าหมื่นบาทเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2) การดำเนินการตามกฎหมาย : การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ ผู้มีเงินได้ได้รับตามมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยตามร่างกฎกระทรวงฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรมมาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการหรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 (ประกาศคณะกรรมการฯ) ซึ่งต้องมีการนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ โดยได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และมาตรา 32 เรียบร้อยแล้ว

2. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

2.1 ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63

1) ข้อเท็จจริง:

1.1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 และ 27 สิงหาคม 2562 รับทราบและเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการหารือการดำเนินโครงการดังกล่าว วงเงินงบประมาณ 25,427.48 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบวงเงิน 25,482.06 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว มีวงเงินที่ใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปก่อน จำนวน 24,810.49 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ปี 2561 จำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน

1.2 ผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.15 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวน 24,662.60 ล้านบาท คงเหลือวงเงินงบประมาณ 147.89 ล้านบาท และ กสก. ได้ประมาณการจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 รวมทั้งคาดการณ์จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ตกหล่น เพิ่มขึ้นเป็น 4.57 ล้านครัวเรือน จึงมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มอีก 0.26 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้งบประมาณที่ยังคงเหลือไม่เพียงพอในการจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562 กับ กสก. ประกอบกับระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรภาคอื่น ๆ กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จึงจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรสำหรับภาคอื่น ๆ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563

2) ข้อเสนอเพื่อพิจารณา :

2.1) ธ.ก.ส. ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวนทั้งสิ้น 2,667.35 ล้านบาท แบ่งเป็น

2.1.1) วงเงินที่จ่ายให้เกษตรกรจำนวน 2,603.56 ล้านบาท โดยรัฐบาลใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายและจะจัดสรรงบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. + 1 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.40 ต่อปี

2.1.2) ค่าชดเชยต้นทุนเงินตามข้อ 2.1.1) เป็นเงิน 62.49 ล้านบาท

2.1.3) ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 1.3 ล้านบาท รายละ 5 บาท ประมาณการจำนวนเกษตรกร 0.26 ล้านครัวเรือน (คำนวณเฉพาะส่วนต่างของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนปี 2562 จำนวน 4.57 ล้านครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยคำนวณไว้โดยใช้ฐานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2561 จำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน)

2.2) ธ.ก.ส. ขอขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรสำหรับภาคอื่น ๆ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563 และกรณีเกษตรกรขึ้นทะเบียนมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ และให้ ธ.ก.ส. นำค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้นจริงจากการจ่ายเงินดังกล่าวไปรวมกับการขอจัดสรรงบประมาณประจำปีของโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63

2.2 โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

1) วัตถุประสงค์: เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

2) กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับ กสก. จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท

3) ระยะเวลาโครงการ: ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

4) วิธีดำเนินโครงการ : กสก. นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับ กสก. ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาล เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

5) งบประมาณ : วงเงินงบประมาณรวม 26,458.89 ล้านบาท แบ่งเป็น

5.1) วงเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวจำนวน 25,793.02 ล้านบาท โดยรัฐบาลใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายก่อน โดยจะจัดสรรงบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. +1ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.40 ต่อปี

5.2) ค่าชดเชยต้นทุนเงินตามข้อ 5.1) เป็นเงิน 643.03 ล้านบาท

5.3) ค่าบริหารจัดการข้อมูลการโอนเงินครัวเรือนละ 5 บาท คิดเป็นเงิน 22.84 ล้านบาท

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีถัด ๆ ไป เพื่อรัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ