ขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณภายใต้มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”

ข่าวการเมือง Tuesday December 17, 2019 16:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณวงเงินสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริม “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมฯ) และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ) g-Wallet ช่อง 1 คงเหลือจำนวน 262,003,000 บาท เป็นเงินชดเชยค่าซื้อสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 แทน

สาระสำคัญ

1. มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน รวมจำนวนไม่เกิน 15 ล้านคน (มาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 5 ล้านคน) โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่าน g-Wallet ดังนี้

1.1 รัฐบาลสนับสนุนวงเงินสำหรับบัญชี g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 1,000 บาท ต่อคน เพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่เลือกไว้เมื่อตอนลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เฉพาะผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 3 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 2 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 จะไม่ได้รับวงเงินสนับสนุนดังกล่าว

1.2 กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก รวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น ในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้านกับผู้ประกอบการร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 ดังนี้

(1) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)

(2) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน)

2. มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบให้การใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ให้สามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้านโดยให้รวมถึงค่าบริการแพ็กเกจที่พักพร้อมการเดินทางหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนค่าสินค้าและบริการผ่านระบบที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชย โดยประชาชนที่มีการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2562 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนธันวาคม 2562 การใช้จ่ายเงินเดือนธันวาคม 2562 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนมกราคม 2563 และการใช้จ่ายในเดือนมกราคม 2563 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

3. ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2562 มีผู้ได้รับสิทธิ์ 14,354,159 ราย โดยมีผู้ใช้สิทธิ์รวมเป็นจำนวน 11,787,584 ราย มียอดการใช้จ่ายทั้งสิ้น 21,546 ล้านบาท

4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้รับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,000,000,000 บาท และเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 12,000,000,000 บาท โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน ซึ่งผลการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จากการใช้จ่ายของประชาชนผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2562 เป็นเงินทั้งสิ้น 11,737,997,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินคงเหลือจำนวนทั้งสิ้น 262,003,000 บาท

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ