แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567)

ข่าวการเมือง Tuesday December 24, 2019 17:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐรายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้มีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบให้มีการปรับระยะเวลาของแผนการคลังระยะปานกลางจากเดิม 3 ปีเป็น 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยแผนการคลังฉบับนี้จะเป็นแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564-2567) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ)

2. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1 - 4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565 - 2567 มีแนวโน้มที่ GDP จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.3-4.3 (ค่ากลางร้อยละ 3.8) และเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางร้อยละ 4.0) ในปี 2566-2567 จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออกและแรงกระตุ้นจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 (ค่ากลางร้อยละ 1.4) ในปี 2565 มาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 ถึง 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) ในปี 2566 และร้อยละ 1.2 – 2.2 (ค่ากลางร้อยละ 1.7) ในปี 2567

2.2 สถานะและประมาณการการคลัง

หน่วย : ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2563

รายได้รัฐบาลสุทธิ / 2,731,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 7.1

งบประมาณรายจ่าย / 3,200,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 6.7

ดุลการคลัง / -469,000

ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) / -2.7

หนี้สาธารณะคงค้าง / 7,530,290

หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) / 43

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) / 17,593,200

ปีงบประมาณ 2564

รายได้รัฐบาลสุทธิ / 2,777,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 1.7

งบประมาณรายจ่าย / 3,300,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 3.1

ดุลการคลัง / -523,000

ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) / -2.8

หนี้สาธารณะคงค้าง / 8,242,358

หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) / 45

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) / 18,444,700

ปีงบประมาณ 2565

รายได้รัฐบาลสุทธิ / 2,819,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 1.5

งบประมาณรายจ่าย / 3,336,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 1.1

ดุลการคลัง / -517,000

ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) / -2.7

หนี้สาธารณะคงค้าง / 9,049,688

หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) / 47

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) / 19,401,600

ปีงบประมาณ 2566

รายได้รัฐบาลสุทธิ / 2,913,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 3.3

งบประมาณรายจ่าย / 3,415,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 2.4

ดุลการคลัง / -502,000

ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) / -2.5

หนี้สาธารณะคงค้าง / 9,824,190

หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) / 48.3

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) / 20,474,000

ปีงบประมาณ 2567

รายได้รัฐบาลสุทธิ / 3,031,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 4.1

งบประมาณรายจ่าย / 3,506,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) / 2.7

ดุลการคลัง / -475,000

ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) / -2.2

หนี้สาธารณะคงค้าง / 10,446,329

หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) / 48.6

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) / 21,651,000

ที่มา : กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2.2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2564 - 2567 ข้างต้นจัดทำภายใต้สมมติฐานที่รวมรายได้จากการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่อยู่ระหว่างการผลักดันของ กค. เช่นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีการบริโภคจากสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงวิธีการคำนวณ วิธีการจัดเก็บค่าลดหย่อน การยกเว้นภาษีบางประเภท และการทบทวนมาตรการชั่วคราวที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ การบังคับใช้กฎหมายกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) และกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม การผลักดันกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศเป็นต้น

2.2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2564 – 2567 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น กำหนดให้สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0 – 3.5 ของวงเงินงบประมาณ กำหนดรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น

2.2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและประมาณการงบประมาณรายจ่ายตามข้อ 2.2.1 และ 2.2.2 จะส่งผลให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 - 2567

2.2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2564 – 2567 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2567) ที่คณะกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติเห็นชอบไว้ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 6,901,802 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP เป็นต้น

3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหากในระยะต่อไปภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ 3 ด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้

3.1 มาตรการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สงป. จะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงานและขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึง การจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย

3.2 มาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดย กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบเพื่อให้มีการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม อีกทั้งจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งรายได้จากภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการทำงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์ของประเทศ

3.3 มาตรการด้านการรักษาวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะจะต้องยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) ในการบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้ง ดำเนินการทางการคลังอย่างรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายประจำในอนาคตได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ