สรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563

ข่าวการเมือง Tuesday February 4, 2020 18:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเสนอ

ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2563 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน นั้น ฝ่ายเลขานุการฯ ขอสรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุม ดังนี้

1. เรื่องเพื่อพิจารณา

1.1 มาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

1.1.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่าสถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศจีนอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย จากการที่ประเทศจีนประกาศห้ามนักท่องเที่ยวประเภทหมู่คณะ (กรุ๊ปทัวร์) เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 ซึ่งสำนักงาน ททท. 5 แห่งในประเทศจีน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2563 จะมีจำนวนลดลงประมาณร้อยละ 80 ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงประมาณ 95,000 ล้านบาท นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตระหนกให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ เกิดความไม่มั่นใจต่อการเดินทางเยือนไทยและประเทศในภูมิภาค ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ไว้ที่ 41.8 ล้านคน และ 2.22 ล้านล้านบาทตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงเสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณามาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในระยะเร่งด่วน (เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563) และในระยะยาว ประกอบด้วย (1) มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 และ (2) มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1.1.1 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (มาตรการระยะเร่งด่วน 3 เดือน : เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2563) ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ (1) การสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่คนไทยและนักท่องเที่ยวด้วยข้อความเดียว (Single message) “ห่วงใยและให้ความสำคัญกับคนไทย เป็นลำดับแรก และแสดงความเห็นใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ” (2) การเฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว โดยยกระดับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (ศูนย์ TAC) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One - Stop Service) พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ให้คำแนะนำ เฝ้าระวัง และแจ้งเหตุ (3) การเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 การช่วยเหลือทางการเงิน โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ การลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น - ลงของอากาศยาน (Landing Fee) และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน และ (4) การกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว โดยการหาตลาดทดแทนจากต่างประเทศ และในประเทศ รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

1.1.1.2 มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (มาตรการระยะยาว : ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป) ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ได้แก่

1) การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทาน (Ease of Traveling) เพื่อการทำงานเชิงบูรณาการกับทุกหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีองค์ประกอบดังนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ

2) การขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืนเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว (Zoning) และการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของบริการการท่องเที่ยว โดยพิจารณามอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืนในพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของการท่องเที่ยวในทุกด้าน ได้แก่ มัคคุเทศก์ ราคาสินค้าและบริการ ความสะอาดของอาหารและร้านค้า ห้องน้ำสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรฐาน Healthy Accessibility Safety (HAS) ทั่วประเทศ การจัดทำฐานข้อมูลที่พักแรมที่ถูกกฎหมาย และ การปลุกจิตสำนึกความมีน้ำใจดูแลและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว

3) การสนับสนุนเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงสู่พื้นที่เมืองรอง โดยขอความเห็นชอบในหลักการการพิจารณาอนุมัติงบประมาณวงเงิน 500 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

1.1.2 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

1.1.2.1 มาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งจะต้องมีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้ จะต้องมีการสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน และการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน

1.1.2.2 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ และศูนย์ดูแลผู้ป่วยเฝ้าระวังขึ้นภายในสนามบินให้เพียงพอต่อความต้องการ ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องเฝ้าระวังจำนวนมากเกินกว่าขีดความสามารถในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

1.1.2.3 ในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศขอให้หน่วยงานพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ของมาตรการที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการชาวไทย และผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็นลำดับแรก

1.1.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

1.1.3.1 เห็นชอบในหลักการของมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 และมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นจากที่ประชุม ไปพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอ รวมทั้งให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดของมาตรการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ มาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการ และดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งให้ดำเนินการตามขั้นตอน กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

1.1.3.2 เห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทาน (Ease of Traveling) เพื่อให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถ ทั้งนี้ ขอให้เสนอรายชื่อผู้แทนและแผนการดำเนินงานในระยะยาวมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

1.2 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

1.2.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาข้อเสนอการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในระดับพื้นที่ภาค โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.2.1.1 ให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย (1) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) (2) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) และ (3) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

1.2.1.2 ให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการและมาตรการสำคัญตามที่เสนอ โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาโอนย้ายคำของบประมาณโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการอื่น ๆ มาบรรจุในแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บท เล่มที่ 9 ประเด็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อสามารถขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2.1.3 ให้ความเห็นชอบกลไกการบริหารจัดการ โดยในระยะเริ่มต้นให้จัดทำ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ....” แต่งตั้งคณะกรรมการ นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) โดยแก้ไขปรับปรุงคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2558 สำหรับในระยะยาวให้ปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอื่น ๆ นอกเหนือจาก EEC ได้แก่ NEC NeEC SEC CEC และ SEZ เพื่อให้มีกลไกบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

1.2.2 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

1.2.2.1 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรดำเนินการในภาคกลาง - ตะวันตกด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง

1.2.2.2 โครงข่ายการคมนาคมขนส่ง (Connectivity) เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้กระทรวงคมนาคมศึกษาออกแบบความเหมาะสมการพัฒนาโครงข่ายสายรองทั้งประเทศ เพื่อให้มีถนนจากเมืองหลวงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ 2 เส้นทาง โดยให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อขยายการพัฒนาออกสู่พื้นที่ใหม่ เช่น เกิดเมืองใหม่ เป็นต้น รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมโครงการ “คลองไทย” โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

1.2.2.3 ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ปัญหาราคาปุ๋ย เพื่อเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต

1.2.2.4 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมในการดำเนินงานแผนงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไว้ด้วย

1.2.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

1.2.3.1 ให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 3 พื้นที่ ตามที่เสนอ และให้เพิ่มเติมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก อีก 1 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 4 พื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป ประกอบด้วย

1) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA)

2) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy)

3) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)

4) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Western Central Economic Corridor : WCEC)

1.2.3.2 ให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการและมาตรการสำคัญ ปี 2564 ตามที่เสนอ โดยให้ สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณบริหารจัดการโดยปรับโครงสร้างแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคในแต่ละภาคให้รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสามารถขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2.3.3 ให้ความเห็นชอบกลไกการบริหารจัดการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมอบหมาย สศช. จัดทำ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ...” แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อให้มีกลไกบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

1.2.3.4 ให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมและจัดทำข้อเสนอ ดังนี้ (1) แนวทางการพัฒนาโครงข่ายสายรองทั้งประเทศ (2) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน

2. เรื่องเพื่อทราบ

2.1 รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ

2.1.1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยล่าสุด และแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1.1.1 สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในหลายประเทศ และเมื่อพิจารณาภาพรวมในปี 2562 พบว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัวลงจากปี 2561 อาทิ จีน เกาหลี สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2562 ของหลายประเทศ ในขณะที่การส่งออกของจีน อินเดีย และเวียดนาม แม้จะยังคงขยายตัวแต่เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง

2.1.1.2 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงหลายครั้ง โดยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ (World Economic Outlook) ฉบับประจำเดือน มกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 และจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นร้อยละ 3.3 ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดประมาณการลงจากร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.4 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือนตุลาคม 2562 ตามลำดับ

2.1.1.3 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจพบว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงและขยายตัวได้ต่ำกว่าการประมาณการ สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 4.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อน และการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 18.3 โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่ลดลงร้อยละ 14.0 และร้อยละ 65.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้ทางด้านการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตการเกษตรในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.9 เทียบกับร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

2.1.1.4 ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง โดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2562 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5 – 2.6 และคาดว่าจะจะปรับตัวดึขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 – 2.8 ในปี 2563

2.1.1.5 ผลการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562 – 2563 พบว่า ด้านการท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยในปี 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 39.8 ล้านคน ตรงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า ทั้งปี 2562 ลดลงร้อยละ 2.7 ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่อัตราขยายตัวร้อยละ 3.0 นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการด้านการเบิกจ่ายงบประมาณยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบลงทุนและงบรัฐวิสหกิจที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมที่คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนผ่านเครื่องชี้ด้านการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ตามการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม

2.1.1.6 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และจะมีการแถลงข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งต่อไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง สศช. จะมีการพิจารณาทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 อีกครั้งโดยพบว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากการประมาณการครั้งก่อน อาทิ การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 สถานการณ์ภัยแล้ง และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

2.1.2 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

2.1.2.1 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเสนอมาตรการ

เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องเป็นมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในแต่ละสาขาได้ อย่างเหมาะสม รวมทั้งมาตรการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG)

2.1.2.2 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเสนอมาตรการสนับสนุนการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนของคนไทย โดยมุ่งเน้นการดูแลภาคเกษตรซึ่งเป็นสาขาการผลิตที่มีสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุด

2.1.2.3 มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเสนอมาตรการส่งเสริมการจ้างงานและสร้างอาชีพ โดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรกรรมในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกหรือช่วงที่ประสบภาวะภัยแล้ง

2.1.2.4 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ที่อยู่ภายใต้โครงการจิตอาสาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2.1.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ