การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law)

ข่าวการเมือง Tuesday February 11, 2020 17:05 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law : HCCH) เพื่อกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ที่ประชุม HCCH ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1893 ประกอบด้วยสมาชิก 83 ราย คือ 82 ประเทศ จากทุกทวีปทั่วโลก และสหภาพยุโรป โดยประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งเข้าเป็นสมาชิก HCCH แล้ว มี 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ HCCH ได้รับสถานะเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organization) เมื่อปี ค.ศ. 1955 อีกทั้งมีความหลากหลายในมิติด้านกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและจัดทำเครื่องมือทางกฎหมายนานาชาติซึ่งตอบสนองกับความต้องการของโลก

พันธกิจหลักของ HCCH คือการพัฒนาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล โดยการหารือความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ เช่น เขตอำนาจของศาล กฎหมายที่บังคับใช้ในขอบเขตกฎหมายเอกชนหลายหัวข้อ เช่น กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายธนาคาร รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา เช่น กฎหมายบุคคลและครอบครัว โดย HCCH เป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศในด้านกฎหมายเอกชนซึ่งมีความมุ่งหวังสูงสุดเพื่อเพิ่มความรัดกุมทางกฎหมายสำหรับทุกนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และจัดประชุมใหญ่ทุก 4 ปี เพื่อเจรจาและจัดทำสัญญา รวมถึงกำหนดกรอบงานในอนาคต โดยอนุสัญญาต่าง ๆ จัดทำขึ้นจากคณะทำงานซึ่งประชุมกันหลายครั้งในหนึ่งปี

ปัจจุบันไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก HCCH แต่ได้มีการทำความตกลงกับบางอนุสัญญาของ HCCH ได้แก่ อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยลักษณะทางแพ่งในการลักพาตัวเด็กข้ามชาติ (Hague Convention on the Civil Aspects of International Child Abduction) ซึ่งไทยได้ทำการภาคยานุวัติ (accession) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 และอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือเรื่องการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ (The Hague Convention on the Protection of Children and Co-operation in Respect of Inter-Country Adoption: Hague Adoption Convention) ซึ่งได้มีการให้สัตยาบัน (ratification) แล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547

สำหรับการเข้าเป็นสมาชิก HCCH ของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหารือถึงแนวทางการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล รวมถึงเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล และเพื่อศึกษา เรียนรู้เทคนิคในการพิจารณาและร่างอนุสัญญาในทางระหว่างประเทศ และความรู้ทางวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ