การพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินการตามสัญญาของผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ข่าวการเมือง Tuesday March 3, 2020 17:24 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินการตามสัญญาของผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมติคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คณะทำงานสรรหาฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกให้กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

สำหรับการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินการตามสัญญาของผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นั้น เห็นควรให้กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) พิจารณาดำเนินการภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... แล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

ข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นการขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกให้กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามมติคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 สรุปได้ ดังนี้

รายการ

1. รูปแบบโครงการ

รายละเอียด

  • เป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ท้องที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื้อที่ประมาณ 1,067 – 2 – 27.7 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี โดยกิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมมูลค่าโครงการ ประมาณ 830 ล้านบาท
  • แบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

(1) พื้นที่อุตสาหกรรม (Factory Zone) ขนาดพื้นที่รวม 610 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ประเภทกิจการ เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อาหาร และเกษตรแปรรูป โลจิสติกส์และคลังสินค้า

(2) พื้นที่ส่วนกลาง (Amenity Core Zone) ขนาดพื้นที่รวม 87 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 เช่น สำนักงานผู้ลงทุนและบริษัทต่าง ๆ หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้าชายแดน ศูนย์การประชุม

(3) พื้นที่สีเขียว (Green Space) ขนาดพื้นที่รวม 370 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 35 เช่น พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ (Training Center) สวนสาธารณะ โครงข่ายถนน

2. การพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอการลงทุน

รายละเอียด

มีคุณสมบัติถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น (1) จะต้องเป็นผู้ไม่เคยทิ้งงานก่อสร้างของทางราชการตามหนังสือแจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลางมาก่อน (2) ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีสถานะการเงินที่มั่นคงและมีความสามารถที่จะดำเนินโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายได้

3. คะแนนข้อเสนอโครงการลงทุน

รายละเอียด

  • ได้คะแนนข้อเสนอโครงการลงทุน ส่วนที่ 1 Land Use & Masterplaning 55.25 คะแนน (จาก 60 คะแนน) ส่วนที่ 2 Business Model/ Milestone/Feasibility 14 คะแนน (จาก 20 คะแนน) และส่วนที่ 3 ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนการเช่า 20 คะแนน (จาก 20 คะแนน) รวมทั้งสิ้น 89.25 คะแนน (จาก 100 คะแนน)
  • ได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทน (ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า) ให้แก่ทางราชการจำนวน 321 ล้านบาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด 54,107,687 บาท (ขั้นต่ำกำหนด 266,892,313 บาท/50 ปี หรือ 250,000 บาท/ไร่/50ปี) รวมทั้งชำระค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 36,000 บาท/ไร่/ปี และปรับปรุงอัตราค่าเช่า ร้อยละ 15 ทุก 5 ปี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ