ขออนุมัติดำเนินโครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย

ข่าวการเมือง Tuesday April 7, 2020 19:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ดำเนินการโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย ภายในกรอบวงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2567) ตามที่ กษ. เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ใช้จ่ายจากรายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน จำนวน 70,000,000 บาท ที่ได้จัดสรรงบประมาณรองรับไว้แล้ว ส่วนที่เหลือ ให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความสามารถในการใช้จ่าย และการก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. ปัจจุบันแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศแล้วพบว่า ทางตอนบนของแม่น้ำยมมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ แต่เนื่องจากอุปสรรคทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงยังไม่สามารถพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำ ประกอบกับภูมิประเทศตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำยมเป็นที่ราบสภาพเรียวเล็กลงกว่าตอนบน เมื่อเกิดฝนตกหนักทางตอนบน มวลน้ำจะไหลบ่าลงมาสู่ตอนล่างอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น เทศบาลเมืองสุโขทัย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายค่อนข้างมากประมาณปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

2. ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย มีปริมาณเฉลี่ย 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถบริหารจัดการน้ำออกสู่คลองสาขาได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลออกด้านซ้ายสู่คลองหกบาทและคลองยม – น่าน 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เกินกว่าความสามารถที่แม่น้ำยมบริเวณดังกล่าวจะรองรับได้ที่ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานจึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหลัก โดยได้พิจารณาใช้แนวทางการตัดยอดน้ำบางส่วนออกจากแม่น้ำสายหลัก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับน้ำได้ โดยจะดำเนินการปรับปรุงคลองหกบาทพร้อมกับขุดคลองชักน้ำ (ชักน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่คลองหกบาท) เพื่อให้สามารถรับน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแบ่งการระบายน้ำจากคลองหกบาทออกเป็น 2 ทาง ได้แก่

1) ระบายไปทางคลองยม – น่าน ที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมขุดช่องลัดลงแม่น้ำน่าน เพื่อชักน้ำจากคลองยม – น่านลงสู่แม่น้ำน่าน

2) ระบายไปสู่คลองยมเก่า ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ การปรับปรุงคลองหกบาทดังกล่าวจะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยลดลงเหลือเพียง 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เท่ากับความสามารถที่รับได้ของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในสภาวะปกติ) จึงช่วยบรรเทาปัญหาปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เมืองสุโขทัยและพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้อีกด้วย

3. รายละเอียดของโครงการสรุปได้ดังนี้

หัวข้อ /รายละเอียด

ระยะเวลาดำเนินโครงการ / 5 ปี (ปี 2563 – 2567)

ที่ตั้งโครงการ

จุดรับน้ำเข้า (คลองหกบาท) อยู่ที่ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และจุดระบายน้ำลงแม่น้ำน่าน (ปลายคลองยม - น่าน) อยู่ที่ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ

  • งานปรับปรุงคลองหกบาท (กม. 2+600 ถึง กม. 5+700) ความยาว 3.10 กิโลเมตร เพื่อให้สามารถรับน้ำได้ จากเดิม 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปรับปรุงเป็นคลองดาดคอนกรีต พร้อมก่อสร้างถนนลาดยางและถนนดินลูกรัง
  • งานปรับปรุงคลองยม - น่าน (กม. 0+000 ถึง กม. 34+850) ความยาว 34.850 กิโลเมตร เพื่อให้สามารถรับน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปรับปรุงเป็นคลองดาดคอนกรีต พร้อมก่อสร้างถนนลาดยางและถนนดินลูกรัง
  • งานขุดคลองชักน้ำและอาคารประกอบ 2 จุด ได้แก่ (1) งานขุดคลองชักน้ำจากแม่น้ำยมลงคลองหกบาท บริเวณ กม. 2+600 ความยาว 400 เมตร ให้สามารถรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำใหม่ 1 แห่ง (2) งานขุดคลอง 1 ซ้าย เพื่อชักน้ำจากคลองยม - น่าน บริเวณ กม. 34+850 ลงแม่น้ำน่าน ความยาว 450 เมตร ให้สามารถรับน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
  • งานป้องกันตลิ่งประตูระบายน้ำคอรุม โดยปรับปรุงตลิ่งด้านท้ายประตูระบายน้ำคอรุม ซึ่งเป็นจุดที่คลองยม – น่านไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน ความยาวประมาณ 120 เมตร

งานก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลอง

  • งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง และงานปรับปรุงประตูระบายน้ำ 3 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากการปรับปรุงคลองได้
  • งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ 8 แห่ง และงานก่อสร้างสะพานรถไฟ 1 แห่งเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งคลอง
  • งานรื้อถอนฝายเดิมที่กีดขวางทางน้ำ
  • งานก่อสร้างท่อระบายน้ำปากคลองและอาคารรับน้ำ
  • งานก่อสร้างท่อส่งน้ำข้ามคลอง

สถานภาพโครงการ

  • การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2547
  • การสำรวจ-ออกแบบ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2560
  • การจัดหาที่ดิน อยู่ระหว่างการสำรวจปักหลักเขต สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ
  • การก่อสร้าง เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2567
  • การมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับท้องถิ่น รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน รวมถึงการประชุมชี้แจงแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ของโครงการ

  • เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุม 15 ตำบล 27 หมู่บ้าน 5,340 ครัวเรือน
  • เพื่อกักเก็บน้ำในแนวคลองไว้ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค เพื่อทำการเกษตรและการปศุสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ 7,300 ไร่
  • ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น

การวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์

  • อัตราคิดลด ร้อยละ 9
  • มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) 151.79 ล้านบาท
  • อัตราผลประโยชน์ต่อค่าลงทุน (B/C Ratio) 1.080
  • อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ร้อยละ 9.660

หมายเหตุ: ค่า EIRR สูงกว่าอัตราคิดลด ดังนั้น โครงการฯ จึงมีความคุ้มค่าที่จะลงทุน

4. กษ. แจ้งว่า โครงการฯ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งไม่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ กษ. โดยกรมชลประทานได้กำหนดให้จัดทำแผนงานป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแผนงบประมาณเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานข้างต้นให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท (สำหรับดำเนินงานช่วงปีงบประมาณ 2564-2567 ปีละ 5 ล้านบาท) นอกจากนี้ การดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของราษฎร ซึ่ง กษ. โดยกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการด้วยแล้ว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ