ร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน

ข่าวการเมือง Tuesday April 21, 2020 19:54 —มติคณะรัฐมนตรี

1. ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.)

2. ร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (มาตรการฯ) ที่ปรับใหม่ จำนวน 12 ข้อ

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า

1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 16 มิถุนายน 2558 พม. ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง ระดับกรม และรัฐวิสาหกิจ นำมาตรการฯ ไปดำเนินการตามความเหมาะสม และให้รายงานผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (แนวปฏิบัติฯ) ต่อ พม. เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คกก.สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แต่โดยที่ที่ผ่านมาการดำเนินงานตามมาตรการฯ ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร อีกทั้งพบว่าบางหน่วยงานยังมีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานเกิดขึ้นด้วย ดังนั้น ในการประชุม คกก. สทพ. ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ พม. เป็น ศปคพ. เพื่อแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และปรับปรุงหลักการของมาตรการฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้นำเสนอ คกก. สทพ. พิจารณาอีกครั้ง

2. ต่อมาในการประชุม คกก. สทพ. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบร่างมาตรการฯ ซึ่งปรับใหม่ จากเดิม จำนวน 7 ข้อ เป็น จำนวน 12 ข้อ และให้เสนอการปรับปรุงมาตรการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

มาตรการฯ เดิม (ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มิถุนายน 2558)

1. หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติฯ ที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงาน รวมทั้งผู้ที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ

2. หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐานควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

3. หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ การจัดสถานที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน เป็นต้น

4. การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร การประนอมข้อพิพาท ฯลฯ เพื่อยุติปัญหา หากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่

5. การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที และเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติฯ และต้องเป็นความลับเว้นแต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ

6. กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องนี้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณี บุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี บุคคลที่มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นที่ประจักษ์โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคนและให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หากต้องมีการดำเนินการทางวินัย ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหารประกอบการดำเนินการทางวินัย

7. หน่วยงานต้องติดตามผลการดำเนินงานตาม แนวปฏิบัติฯ อย่างต่อเนื่อง และรายงานต่อ คกก.สทพ. อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ร่างมาตรการฯ ที่ปรับใหม่

1. หน่วยงานต้องมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น ประกาศ คำสั่ง) โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรรับทราบอย่างทั่วถึง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (เพิ่มเติมให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจน)

2. หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติฯ ที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้ที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ (เพิ่มเติมประเด็นการจัดทำแนวปฏิบัติฯ ให้มีการจัดทำทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน)

3. หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน โดยเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐาน ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ (เพิ่มเติมประเด็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ)

4. หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศและแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยคำนึงถึงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในองค์กร เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน เป็นต้น (เพิ่มเติมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในหน่วยงาน)

5. หน่วยงานต้องกำหนดกลไกการร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน เช่น ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกฎหมาย หรือกลุ่มคุ้มครองคุณธรรมจริยธรรม (เพิ่มกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน)

6. การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร การประนอมข้อพิพาท ฯลฯ เพื่อยุติปัญหาหากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่ (เหมือนเดิม)

7. การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันทีและเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติฯ และต้องเป็นความลับ เว้นแต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ (เหมือนเดิม)

8. กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ให้หัวหน้าหน่วยงานดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท้จจริง จำนวน ไม่เกิน 5 คน ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณี บุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคน และให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หรือ
  • ให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ให้รายงานผลต่อหัวหน้าหน่วยงาน และหากต้องมีการดำเนินการทางวินัย ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหาร ประกอบการดำเนินการทางวินัย (เพิ่มจำนวนคณะกรรมการ และระบุกลุ่มงานรับผิดชอบดำเนินการสอบข้อเท็จจริง และให้รายงานผลต่อผู้บริหารหน่วยงาน)

9. หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน เมื่อมีการร้องเรียนแล้ว ผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยานจะไม่ถูกดำเนินการใด ๆ ที่กระทบต่อหน้าที่การงานหรือการดำรงชีวิตหากจำเป็นต้องมีการดำเนินการใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน รวมถึงข้อร้องขอของผู้เสียหาย ผู้ร้องเรียนหรือผู้เป็นพยานควรได้รับการพิจารณาจากบุคคลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม และหน่วยงานต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง (เพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน)

10. หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา โดยในระหว่างการร้องเรียน ยังไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด ต้องให้ความเป็นธรรมและให้ได้รับการปฏิบัติ เช่นเดียวกับบุคลากรอื่น และต้องมีการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ รวมทั้งสิทธิในการแสดงเอกสาร/พยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา (เพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา)

11. หน่วยงานต้องรายงานผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติฯ อย่างต่อเนื่อง สำหรับหน่วยงานภาครัฐให้รายงานต่อผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer : CGEO) และให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point : GFP) ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการฯ สำหรับการรายงานผลการดำเนินงานให้รายงานไปยัง ศปคพ. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี (เพิ่มเติมกลไกติดตามและการรายงานผล)

12. ศปคพ. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ โดยรายงานต่อ คกก. สทพ. อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง(เพิ่มเติมบทบาทของ ศปคพ.)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ