การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Minister on COVID-19)

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีท่องเที่ยว อาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถดำเนินการได้โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลัง หากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกลและให้ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ โดยไม่มีการลงนามในการประชุมดังกล่าว ในวันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 09.00 – 11.00 น. ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

1. การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Minister on COVID-19) ในวันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 9.00 – 11.00 น. มีรัฐมนตรีท่องเที่ยวกัมพูชาในฐานะประธานหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (Chair of Head of ASEAN NTOs) ปี พ.ศ. 2563 เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อินโดนีเซีย เป็นรองประธานการประชุม

2. เลขาธิการอาเซียนด้านการท่องเที่ยวในฐานะฝ่ายเลขานุการการประชุม ได้ยกร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งจะเป็นผลผลิตของการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล มีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนแสดงความห่วงใยและยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในวงกว้างตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลงเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและคืนความเป็นปกติสุขกลับสู่ภูมิภาคในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยที่ประชุมมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอาศัยการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน (ATCCT) เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันเวลา เชื่อถือได้ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมาตรการสนับสนุนและบรรเทาทุกข์ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงการจัดการกับผลกระทบในภายหลัง เมื่อวิกฤตการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อจัดการกับโรคอุบัติใหม่หรือภัยร้ายแรงในรูปแบบอื่น ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต นอกจากนี้ รัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งระดับจุลภาคและมหาภาค เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง และรายย่อย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ เพื่อเร่งให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาเซียนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

3. ประเด็นการหารือและข้อเสนอของประเทศไทย ในการประชุมดังกล่าว ดังนี้

3.1 แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สุขภาวะของประชาคมอาเซียนและการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของภูมิภาคและของโลกโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

3.2 แสดงความยินดีที่จะให้การสนับสนุนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่จะตามมาร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ