ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน

ข่าวการเมือง Tuesday May 12, 2020 19:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for The Changing World of Work)กรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย รับรองร่างปฏิญญาอาเซียน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

สาระสำคัญ

ร่างปฏิญญาอาเซียน ฯ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยให้ความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกของงานอันมีสาเหตุจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกระแสการส่งเสริมงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีต่อกำลังแรงงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอนาคตของงานได้ ซึ่งมาตรการสำคัญสรุปได้ ดังนี้

การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน

1) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย บ่มเพาะวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างความตระหนักแก่แรงงานเยาวชนและนายจ้างถึงความสำคัญของการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อปรับตัวต่อโลกแห่งการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง รวมถึงการศึกษาและการฝึกอบรม

2) การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและโอกาสการจ้างงานสำหรับทุกคน โดยเฉพาะสตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ ปรับปรุงการศึกษาและการจ้างงานที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของการฝึกอบรมทักษะฝีมือ ตลอดจนโอกาสในการมีงานทำสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง

3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างความพยายามที่จะมีกรอบแผนงานเชิงนโยบายที่ชัดเจน ในระดับชาติ และ/หรือแผนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงนโยบายที่มีความสอดคล้อง และให้เกิดความตระหนักในประเด็นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คาบเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษา การฝึกอบรม และตลาดแรงงาน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม

4) การเพิ่มบทบาทของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการฝึกงาน เพื่อมุ่งสู่โอกาสในการมีงานทำที่ดีกว่า ความสามารถในการทำงาน รายได้ที่สูงขึ้น ความมั่นคงในการทำงาน คุณภาพของงาน และความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องและอยู่ภายใต้กรอบแผนงานของแต่ละประเทศสมาชิก

5) การส่งเสริมนโยบายและข้อริเริ่มเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่รวมขั้นตอนหลักของการศึกษาและการฝึกอบรมไว้ด้วยกัน [เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (Technical Vocational Education and Training: TVET) อุดมศึกษา] และการพัฒนาทักษะฝีมือในองค์กรต่างๆ เพื่อให้มีทักษะฝีมือที่จำเป็นในปัจจุบันและในอนาคต และมีการเคลื่อนย้ายด้านอาชีพและการพัฒนาสายงานอาชีพ

6) การเสริมสร้างความเป็นผู้นำของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน สร้างแรงจูงใจและยอมรับทรัพยากรที่เอกชนได้ลงทุนไปในการฝึกอบรมทักษะฝีมือ การฝึกงาน และการฝึกหัดอาชีพ

7) การส่งเสริมการใช้ TVET อธิบายให้เห็นถึงโอกาสที่ดีและการมีงานทำ การเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปยังการทำงาน ความก้าวหน้าในสายงานอาชีพของผู้สำเร็จการศึกษาด้าน TVET ให้การสนับสนุนผู้หญิง เด็กผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเพื่อการเข้าสู่สายงาน TVET ในรูปแบบใหม่ ส่งเสริมมาตรฐานสมรรถนะ TVET และการรับรองที่สอดคล้องกันในประเทศสมาชิกอาเซียน

8) การส่งเสริมอุปสงค์ที่มีสมรรถนะและคุณลักษณะขับเคลื่อนใน TVET และอุดมศึกษา กำหนดหลักสูตรและการประเมิน และการจ้างบุคลากรมีคุณภาพด้านการสอนโดยมีงานวิจัยที่ทันสมัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ก้าวไกลที่จะตอบสนองความต้องการด้านตลาดแรงงานซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันทางการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

9) การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดแรงงานและการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ตามความเหมาะสม เพื่อมุ่งสู่ระบบข้อมูลข่าวสารด้านตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและมีการเชื่อมโยงกัน รวมถึงคาดการณ์ล่วงหน้าในเรื่องทักษะฝีมือเพื่อส่งเสริมความสามารถของรัฐบาล สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และผู้มี ส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

10) การส่งเสริมการพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย

11) การเสริมสร้าง/จัดตั้งหน่วยงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสาขาการศึกษา การฝึกอบรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และการบริหารด้านแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงความสอดคล้อง ทางนโยบายในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคาบเกี่ยวกัน

12) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการอาชีวศึกษา (ASEAN TVET Council: ATC) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการประสานงาน ศึกษาวิจัย และการพัฒนาด้านวัตกรรม รวมถึงการติดตามแผนงานระดับภูมิภาคที่จะสนับสนุนความก้าวหน้าด้าน TVET ในภูมิภาค

13) การสำรวจจัดตั้งกองทุนรวมที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และหุ้นส่วนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนสิ่งที่สำคัญและงานวิจัยเกี่ยวกับทักษะฝีมือที่จำเป็นในอนาคต

14) การเสริมสร้าง ร่วมมือ ประสานงานกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ ภาคเอกชน นักวิชาการ หุ้นส่วนไตรภาคี และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เพื่อสนับสนุนวิธีการที่สอดคล้องกันและครอบคลุมในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

15) การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนนอกอาเซียน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนต้นแบบ แนวปฏิบัติที่ดี และประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโลกการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ