ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

ข่าวการเมือง Tuesday May 26, 2020 19:29 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าอาเซียน-จีน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ASEAN –China Economic Ministers’ Joint Statement on Combating the Coronavirus Disease (COVID-19) and Enhancing ACFTA Cooperation และการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญ

ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีนฯ เป็นเอกสารแสดงเจตจำนงเพื่อร่วมมือกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระดับโลกและภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) มีส่วนสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน นำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลของสำนักเลขาธิการอาเซียน การค้าของทั้งสองฝ่ายเติบโตจาก 235.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 เป็น 497 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 111 อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความท้าทายในปัจจุบัน การค้าระหว่างอาเซียนและจีนยังมีแนวโน้มในเชิงบวกและจะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ทำให้อาเซียนและจีนเล็งเห็นความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านความตกลง ACFTA

2. การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 อาเซียนและจีนชื่นชมการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายทั้งในรูปแบบการเงินและการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการรักษาตลาดที่เปิดกว้าง และส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับภูมิภาคและโลก รวมถึงทำให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าเกษตร อาหาร ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สินค้าและบริการที่จำเป็นอื่นๆ เป็นไปอย่างราบรื่น

3. การใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดและปรับปรุงเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นย้ำการแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชน ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย เพื่อลดการหยุดชะงักของการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งรวมถึงการระงับการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ทั้งนี้หากมีความจำเป็นในการออกมาตรการฉุกเฉินทางการค้าใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม มีความโปร่งใสและต้องคำนึงถึงมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) และสอดคล้องกับสิทธิและพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trades Organization: WTO)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ