ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday June 2, 2020 17:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

อว. เสนอว่า

1. อว. โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ดังนี้

1.1 ได้ประชุมร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาประเด็นตามข้อเสนอของทันตแพทยสภา ซึ่งไม่ขัดข้องในการกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่อุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไม่เกิน 5 กิโลโวลต์ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559

1.2 สำหรับทันตแพทยสภานั้น ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยทันตแพทยสภาไม่คัดค้านการยกเว้นการควบคุมเครื่องกำเนิดตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าว แต่มีข้อเสนอให้พิจารณาหลักเกณฑ์การยกเว้น (exemption) ตามที่กำหนดใน General Safety Requirements Part 3 ในข้ออื่นๆ ที่ระบุไว้ และให้พิจารณาประกอบกับมาตรา 18 มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้กฎกระทรวงอย่างน้อยต้องระบุรายชื่อเครื่องกำเนิดรังสี ระดับกัมมันตภาพหรือลักษณะ การใช้งานด้วย

2. อว. โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้พิจารณาข้อเสนอของทันตแพทยสภาตามข้อ 1.2 แล้ว เห็นว่าตาม GSR Part 3 ได้กำหนดเกณฑ์ยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมไว้ 2 ลักษณะ คือ

2.1 เครื่องกำเนิดรังสีในสภาพการใช้งานปกติ ไม่ทำให้มีปริมาณรังสีโดยรอบหรือที่ได้รับโดยตรงเกิน 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่ระยะ 0.1 เมตร จากพื้นผิวที่สามารถเข้าถึงได้ หรือ

2.2 พลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้น ต้องไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ จากเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงได้กำหนดว่าเครื่องกำเนิดรังสีที่ก่อให้เกิดรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ จะได้รับการยกเว้นโดยอัตโนมัติ การที่ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้กำหนดยกเว้นให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่อุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไม่เกิน 5 กิโลโวลต์ เป็นไปตามเกณฑ์ข้อ 2.1

สำหรับเกณฑ์ตาม GSR Part 3 นั้น ประเทศสมาชิกสามารถเลือกมาปรับใช้เป็นกฎหมายภายในของประเทศตนได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศตน แต่สำหรับในกรณีนำเกณฑ์ที่กำหนดให้พลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นต้องไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์มาเป็นเกณฑ์ยกเว้นการกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสี จะเป็นการเพิ่มภาระผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องกำเนิดรังสีในการพิสูจน์ว่า การใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีนั้นจะไม่ทำให้มีปริมาณรังสีโดยรอบหรือที่ได้รับโดยตรงเกิน 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่ระยะ 0.1 เมตร จากพื้นผิวที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการพิสูจน์นั้นอาจต้องใช้เอกสารหลักฐานที่เป็นใบรับรองจากประเทศผู้ผลิต และหากการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบรับรอง ก็จะไม่อาจพิสูจน์ทราบได้เลยว่า เครื่องกำเนิดรังสีที่ได้รับยกเว้นนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่

2.3 การกำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลายประเทศ เช่น COUNCIL DIRECTIVE 2013/59/EURATOM ของสหภาพยุโรปที่ออกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ในเรื่อง basic safety standards for protection against the dangers arising from exposure to ionizing radiation ซึ่ง Directive ฉบับดังกล่าวบังคับใช้กับ 28 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในด้านใด ๆ หากเครื่องกำเนิดรังสีมีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทางรังสีจะน้อยมากจนสามารถกำหนดยกเว้นจากการกำกับดูแลได้ จึงไม่จำเป็นต้องระบุรายชื่อเครื่องกำเนิดรังสี รวมทั้งเทคโนโลยีและการใช้งาน เครื่องกำเนิดรังสีมีหลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การกำหนดเฉพาะเจาะจงลงไปในกฎกระทรวงอาจไม่ยืดหยุ่นและเป็นเหตุให้ต้องแก้ไขกฎกระทรวงบ่อยครั้ง

3. คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ได้พิจารณาประเด็นเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า เกณฑ์ในการยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีเป็นไปตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ Radiation Protection and Safety of Radiation Sources: International Basic Safety Standards (GSR Part 3) แล้ว

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่อุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไม่เกิน 5 กิโลโวลต์ เป็นเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ