(ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ

ข่าวการเมือง Tuesday June 2, 2020 17:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ

2. มอบหมายให้ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายอวกาศและหน่วยงานที่ดูแลการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ

สาระสำคัญของเรื่อง

อว. รายงานว่า

1. ประเทศไทยยังไม่ได้ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ค.ศ. 1975 และ ไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่ดูแลเรื่องวัตถุอวกาศอย่างเป็นระบบ แต่ประเทศไทยมีดาวเทียมที่ใช้งานในปัจจุบันและที่หมดอายุการใช้งานแล้วไม่น้อยกว่า 11 ดวง และมีแผนที่จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในช่วงระยะเวลา 3-5 ปี ต่อจากนี้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ดาวเทียม Royal Thai Air Force 1 – 2 (RTAF sat) ดาวเทียมของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (BCC Sat) และดาวเทียมในโครงการ THEOS - 2 จำนวน 2 ดวง รวมถึงดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการอวกาศให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักสากลและสอดคล้องกับมติประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติที่ร้องขอให้รัฐที่ปล่อยวัตถุขึ้นสู่อวกาศนำส่งข้อมูลของวัตถุนั้นโดยทันทีให้แก่ COPUOS ผ่านสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs: UNOOSA) ประเทศไทยจึงต้องมีแนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรับผิดชอบและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินกิจการอวกาศต่อไป ในการนี้ สทอภ. ในฐานะหน่วยประสานงานกับ COPUOS จึงได้จัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทย มีแนวปฏิบัติในการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศสำหรับใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องดังกล่าว

2. (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายอวกาศ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 และคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 แล้ว โดยคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายอวกาศ ได้มีข้อคิดเห็นสรุปได้ ดังนี้

2.1 ให้เสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอมติจากคณะรัฐมนตรีในประเด็น

(1) ในขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านการ จดทะเบียนวัตถุอวกาศ ให้ สทอภ. ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศไปพลางก่อนตามแนวปฏิบัติของ UN ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติแม้รัฐเจ้าของโครงการดาวเทียมจะมิได้เป็นผู้จดทะเบียนแต่ให้รัฐต่างประเทศผู้ส่งดาวเทียมเป็นผู้จดทะเบียน แต่รัฐผู้ส่งก็สามารถกำหนดเงื่อนไขให้รัฐเจ้าของโครงการอวกาศต้องรับภาระเรื่องการจัดทำประกันภัยเพื่อจัดการปัญหาเรื่องความรับผิดของรัฐผู้ส่งวัตถุอวกาศ และ

(2) อนุญาตให้ใช้แนวปฏิบัตินี้เป็นกฎเกณฑ์เพื่อปรับใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ้งแม้ไม่สามารถบังคับใช้โดยตรงกับภาคเอกชน แต่ในทางปฏิบัติภาคเอกชนต้องร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอยู่แล้วในการดำเนินโครงการและยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและเพื่อประโยชน์ของประเทศ

2.2 สำนักงานพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหมไม่มีข้อขัดข้อง ยกเว้นในส่วนของขอบเขตการบังคับใช้ ที่ควรยกเว้นกิจการอวกาศที่อยู่ในราชการทหารเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

2.3 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เห็นว่า โดยรวมแล้วไม่ขัดข้องและเห็นชอบตามที่กำหนดให้มีการดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ และแจ้งไปยัง กต. เพื่อให้ กต. ประสานงานไปยัง UN เพื่อจดทะเบียนวัตถุอวกาศ

2.4 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) โดยรวมแล้วไม่ขัดข้อง แต่ในแง่ของการบังคับใช้ มีความเห็นว่าแนวปฏิบัตินี้มีลักษณะเป็นแนวปฏิบัติโดยความสมัครใจ เนื่องจากไม่มีบทลงโทษในกรณีละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้

2.5 สทอภ. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศตามมติที่ประชุมดังกล่าวก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศให้ความเห็นชอบและมีความเห็นเพิ่มเติมว่าแนวปฏิบัตินี้ไม่ใช่แนวปฏิบัติตามหลักความสมัครใจ เนื่องจากสามารถใช้บังคับกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศของเอกชน เพราะกิจกรรมด้านอวกาศเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากระบวนการบังคับใช้ให้ครอบคลุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

3. (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

3.1 ขอบเขต แนวปฏิบัตินี้ให้ใช้แก่การจดแจ้งวัตถุอวกาศซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจการอวกาศ ดังต่อไปนี้

(1) การดำเนินกิจการอวกาศในราชอาณาจักร

(2) การดำเนินกิจการอวกาศนอกราชอาณาจักรหรือในอวกาศโดยบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยหรือได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และ

(3) การดำเนินกิจการอวกาศนอกราชอาณาจักรโดยใช้พื้นที่ที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือโดยใช้เรือ อากาศยาน หรือวัตถุอวกาศซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศไทย

เว้นแต่กิจการอวกาศที่อยู่ในราชการทหารเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนด (ตามความเห็นของสำนักงานพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม)

3.2 แนวปฏิบัติการจดแจ้งวัตถุอวกาศ ได้แก่

(1) ดำเนินการจดแจ้งวัตถุอวกาศหลังจากที่ได้ปล่อยวัตถุอวกาศขึ้นสู่อวกาศแล้ว โดยส่งข้อมูลในรูปแบบที่ UNOOSA กำหนด

(2) สทอภ. ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ และแจ้งไปยัง กต. เพื่อให้ กต. ประสานงานไปยังสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อจดทะเบียนวัตถุอวกาศ และ

(3) UN แจ้งผลการจดทะเบียนวัตถุอวกาศหรือการรับจดทะเบียนวัตถุอวกาศผ่านช่องทางการทูต

3.3 ประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อเกิดปัญหารัฐสามารถอ้างสิทธิไล่เบี้ยในกรณีวัตถุอวกาศตกหล่น การช่วยเหลือและส่งคืนวัตถุอวกาศ ในขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความรับผิดชอบของรัฐตามมาในฐานะรัฐผู้ส่งกระสวยให้กับประเทศไทย (Launching State) หากวัตถุอวกาศของไทยไปก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศอื่น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ