ร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …)

ข่าวการเมือง Tuesday June 2, 2020 17:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาต่อไป

คค. เสนอว่า

1. สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 กรกฎาคม 2539) เห็นชอบมาตรการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและแนวทางการโอนเงินกองทุนบำเหน็จตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยให้เร่งรัดดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2540

2. ต่อมา กค. ได้เสนอเรื่อง การแก้ไขระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐวิสาหกิจ ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไท (รฟท.) และธนาคารออมสิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (18 พฤษภาคม 2547) เห็นชอบในหลักการการแก้ไขระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐวิสาหกิจตามที่ กค. เสนอ

3. การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติตามข้อ 2. รฟท. จึงต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว แต่ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 ยังมีผลบังคับใช้กับผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ที่บรรจุก่อนวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงทำให้ รฟท. ต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้ปฏิบัติงานตามกองทุนผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ดังกล่าว

4. รฟท. เห็นว่า เพื่อไม่ให้การจ่ายเงินสงเคราะห์ตามข้อ 3. เกิดความซ้ำซ้อนกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ที่บรรจุก่อนวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานใน รฟท. นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเพื่อให้ผลของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบังคับใช้เฉพาะกับผู้ปฏิบัติงานที่จะบรรจุใหม่ของ รฟท. เท่านั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าว โดยกำหนดไม่ให้นำข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวกับการจ่ายเงินสงเคราะห์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน รฟท. มาใช้กับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน รฟท. นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ รฟท. และให้การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รฟท. เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

5. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รฟท. จะบรรจุพนักงานใหม่ จำนวน 1,330 อัตรา เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …) ภายในเดือนมิถุนายน 2563

6. คณะกรรมการ รฟท. ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2562 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เห็นชอบแผนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและแผนรับพนักงานใหม่ จำนวน 1,330 อัตรา โดยให้ดำเนินการคู่ขนานตามที่ได้หารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. และเห็นชอบร่างข้อบังคับในเรื่องนี้

จึงได้เสนอร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …) มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างข้อบังคับ

เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 34/1 แห่งข้อบังคับ รฟท. ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ลงวันที่ 19 เมษายน 2528

“ข้อบังคับนี้ไม่ให้ใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานใน รฟท. นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รฟท.

ในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รฟท. ให้ รฟท. ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง”

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ