ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 (The 23rd GMS Ministerial Conference)

ข่าวการเมือง Tuesday June 2, 2020 18:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 (The 23rd GMS Ministerial Conference) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

คณะรัฐมนตรี รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน ลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และรับทราบข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินแผนงาน GMS และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ โดยประสานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ภายใต้หัวข้อหลักคือ “เพื่อการบูรณาการที่ขยายเพิ่ม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค GMS” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. สาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและรับทราบเรื่องต่างๆ ดังนี้

เห็นชอบ

1. แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS

2. ร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ในระยะปี 2573 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “เป็น อนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง และมุ่งกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม”

3. แผนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ฯ โดยเน้น 3 หัวข้อหลัก คือ (1) การผลิตเชิงอุตสาหกรรม และบทบาทของ GMS ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (2) บทบาทของเมืองในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจใน GMS และ (3) การพัฒนาเชิงพื้นที่ และนัยต่อการพัฒนา GMS ในอนาคต

4. รายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 2 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 ประกอบด้วยแผนงาน/โครงการลงทุนในอนุภูมิภาค GMS จำนวน 255 โครงการ มูลค่ากว่า 92.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.87 ล้านล้านบาท) โดยของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 89 โครงการ มูลค่ารวม 22.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.95 แสนล้านบาท) เช่น โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

5. รับทราบยุทธศาสตร์สาขาความร่วมมือด้านสุขภาพปี 2562-2566 โดยเสนอให้จัดตั้งสาขาความร่วมมือใหม่ในแผนงาน GMS ด้านสาธารณสุขเพื่อมุ่งเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับ การพัฒนาในด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น

รับทราบ

1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่างๆ เช่น การเริ่มออกใบอนุญาตขนส่งสินค้าจำนวน 500 คัน ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) การเสริมสร้างความเข้มแข็งความมั่นคงทางอาหาร การมุ่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการมุ่งสร้างเสริมระบบสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ

2. รายงานของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย

2.1 รายงานของภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดย (1) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ผ่านการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบใหม่ (2) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย (3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลและการค้าออนไลน์ และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การดำเนินโครงการต่างๆ

2.2 รายงานของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยประเด็นที่มีพลวัตมากที่สุด คือ เร่งส่งเสริมการขนส่งข้ามพรมแดน และมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความเท่าเทียมกัน (2) การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ และ (3) การส่งเสริมมาตรฐานการขนส่งในกลุ่มประเทศ GMS

3. การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 และเวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

2. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินแผนงาน GMS ได้แก่

การดำเนินงาน

  • เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในทุกรูปแบบ พัฒนาด่านพรมแดนโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน และเร่งพัฒนาเนื้อหาและแพลตฟอร์มที่ทันสมัยเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

  • เร่งรัดดำเนินงานในระยะแรกเริ่มภายใต้ความตกลง CBTA รวมทั้งเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการเพิ่มจำนวนเส้นทางจุดผ่านเข้าออกของคนและสินค้าภายใต้ความตกลง CBTA

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง

  • เตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงและขยายฐานการผลิตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และมุ่งกระจายผลประโยชน์เนื่องมาจากการพัฒนาพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เสริมสร้างขีดความสามารถของ SMEs

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

  • จัดการผลกระทบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ และร่วมหารือในเรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน

  • ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น รวมทั้งประสานและผลักดันการพัฒนาเมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงมหาดไทย

  • ขับเคลื่อนคณะทำงานสาขาความร่วมมือด้านสุขภาพ เช่น เร่งหารือร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ ร่วมพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อเชื้อโรคอุบัติใหม่

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุข

  • ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานของไทยในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

หน่วยงานที่รับผิดชอบ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ