ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ข่าวการเมือง Tuesday June 9, 2020 18:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของ พม. กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งได้ปรากฏปัญหาการร้องเรียนโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามขณะฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นถูกสั่งให้ปลอมเอกสารลายมือชื่อและข้อมูลเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงปลอมรายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 988-59/2561 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 จึงได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณงบเงินอุดหนุน โดยการทุจริตที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนในหลายขั้นตอน ทั้งในด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมาย วิธีการ และแนวทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงหรือมีช่องว่างที่อาจกระทำการทุจริตได้ รวมทั้งระบบการติดตาม ประเมินผล และการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่ไม่รัดกุม ตลอดจนปัญหาในด้านการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตออกเป็น 3 ด้าน โดย พม. ได้พิจารณาแล้วเห็นด้วยในหลักการของข้อเสนอแนะดังกล่าว ซึ่ง พม. ได้มีการดำเนินการในบางประเด็นแล้ว สรุปได้ ดังนี้

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย

(1) รัฐบาลควรกำหนดให้การจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากร (Census) โดยปรับปรุงและจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมและดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของกรมการปกครอง ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

(2) ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันดำเนินการบูรณาการการปฏิบัติงานและปรับปรุงฐานข้อมูลประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย

(3) ควรจัดทำระบบสารสนเทศรองรับการใช้งานข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติงานและเรียกดูข้อมูลบน Web Browser หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ และมีการรายงานข้อมูลได้ตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

การดำเนินการของ พม.

พม. ได้มีการพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ ดังนี้

  • มีการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางสวัสดิการของ พม. โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนในรูปแบบ Web Service
  • มีการจัดทำฐานข้อมูลการให้บริการ
  • มีการจัดทำระบบรายงานผลการพิจารณาให้การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมในรูปแบบกระดานสถานการณ์ทางสังคม
  • มีการกำหนดมาตรฐานข้อมูลกลางในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูล
  • มีการประมวลข้อมูลการให้ความช่วยเหลือในภาพรวมรูปแบบ One Report เป็นต้น

2. ด้านเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน

(1) ให้ พม. พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการภายใต้สังกัดทบทวนหรือปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนและการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือกรณีเงินสงเคราะห์ในแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดระเบียบ วิธีการ และขั้นตอนในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้มีความชัดเจนเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวการณ์ในปัจจุบัน

(2) ให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดให้มีระบบการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคารโดยใช้บัตรใบเดียวที่สามารถเบิกจ่ายเงินให้ประชาชน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมและพัฒนาระบบการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์และมีระบบติดตามผลเพื่อตรวจสอบสถานภาพของผู้มีสิทธิเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ฐานข้อมูลเป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้

(3) พิจารณาศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีบัตรสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยใช้ฐานข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

การดำเนินการของ พม.

พม. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • มีการจัดทำแบบฟอร์มหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเงิน ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
  • กำหนดให้มีการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร (e-Payment) โดยจ่ายผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้โดยตรง ลดความผิดพลาดและโอกาสการทุจริต

3. ด้านการติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน

(1) ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล และให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนผู้ตรวจราชการภาคประชาชน นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการสังคมสงเคราะห์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเกี่ยวกับความถูกต้องโปร่งใสและความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมการเปิดเผยรายงานผลการติดตามและประเมินผลของโครงการต่อสาธารณะ

(2) เห็นควรให้ พม. พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการภายใต้สังกัดจัดทำแผนการตรวจสอบประเด็นหรือขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมทั้งจัดทำแผนสำหรับการสุ่มตรวจสอบกรณีที่อาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม

การดำเนินการของ พม.

พม. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • มีระบบสารสนเทศช่วยในการติดตามและประเมินผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมแบบ Real Time และนำเสนอข้อมูลให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถติดตามได้
  • กำหนดให้มีคณะนิเทศก์ลงพื้นที่สุ่มตรวจการดำเนินงานของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ