ร่างกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ฉบับใหม่

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2020 18:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ฉบับใหม่ กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงถ้อยคำหรือสาระสำคัญของหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหรือเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในกรอบความตกลงฯ ฉบับใหม่ในนามอาเซียน โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อร่างกรอบความตกลงฯ ฉบับใหม่ในนามประเทศไทยไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

สาระสำคัญ

กรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับยูนิเซฟมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับสิทธิตามข้อบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) และบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเด็นที่เกี่ยวกับเด็ก โดยมีประเด็นความร่วมมือ ดังนี้

(1) สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 และเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด 17 ข้อ ด้วยความเสมอภาค เช่น การเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาแบบถ้วนหน้า การลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก การพัฒนาสุขภาพของมารดา การยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีและ โรคเอดส์ เป็นต้น

(2) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือทางวิชาการด้านสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการพัฒนา เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับเด็กที่มุ่งเน้นความเท่าเทียม การเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอย่างเท่าเทียม การดูแลและพัฒนาการเด็กปฐมวัยและการเฝ้าระวังทางด้านโภชนาการและน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย เป็นต้น

(3) การพัฒนามาตรฐานและคู่มือแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพของนโยบายทางสังคมที่เกี่ยวกับเด็กและบริการทางสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น การให้ความช่วยเหลือในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกรอบ การดำเนินงานในระดับประเทศ (เช่น การจดทะเบียน การออกใบอนุญาต) สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงาน ด้านเด็ก การป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน เป็นต้น

(4) การเพิ่มพูนขีดความสามารถและสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนในการส่งเสริมและ การปกป้องสิทธิเด็กในภูมิภาค

(5) การระบุถึงสถานการณ์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในระดับภูมิภาค เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง และการเพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านการลดความเสี่ยง ซึ่งมีชุมชน เป็นฐานและมีเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยมีการปรึกษาหารือกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง

(6) การสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งการพัฒนาระบบการสนับสนุนแบบบูรณาการภายในประเทศสำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งครอบครัวต่าง ๆ จะได้รับทรัพยากรและการสนับสนุน ที่เอื้อต่อการเติบโตและพัฒนาการสูงสุดของเด็ก

กิจกรรม ได้แก่ การปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยน และการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ด้านเด็ก การประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ร่วมกันดำเนินการ หรือร่วมกันสนับสนุน การช่วยเหลือด้านวิชาการ งานวิจัยและการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ร่วมกันที่รวบรวมข้อมูลบทเรียนการปฏิบัติงานที่ดี การแลกเปลี่ยนความรู้ และการส่งเสริมการระดมความคิดเห็นในเรื่องสิทธิเด็กต่างๆ การรณรงค์พิทักษ์สิทธิและการสร้างความตระหนักรู้ และ การเข้าร่วมการประชุม การประชุมวิชาการ การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นความร่วมมือที่ได้ระบุไว้

ทั้งนี้ กรอบข้อตกลงนี้จะมีผลเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน และอาจมีการต่ออายุระยะเวลาอีก 5 ปี โดยความยินยอมร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยกรอบข้อตกลงนี้อาจจะยุติเมื่อใดก็ได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้เวลาอีกฝ่ายล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน การยุติกรอบข้อตกลงความร่วมมือจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินงานอยู่ให้สำเร็จตามที่ตกลงกันไว้ทั้งสองฝ่าย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ