รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 2 ปีที่ 2

ข่าวการเมือง Tuesday June 30, 2020 18:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 2 ปีที่ 2 (4 ตุลาคม 2561 – 3 ตุลาคม 2562) [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มาตรา 28 (5) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการที่เกี่ยวกับงานที่ได้รับไปทำที่บ้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเสนอรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้

1. การสร้างกลไกในการพัฒนาการคุ้มครองงานที่รับไปทำที่บ้าน

อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อรวบรวมข้อมูล ศึกษาแนวทางการคุ้มครอง ส่งเสริมการพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน กำหนดค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน และกำหนดค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และ ค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

2. การส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีอาชีพเสริมเพิ่มจากอาชีพหลัก มีรายได้ที่มั่นคง มีงานทำอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ หลักประกันทางสังคม และสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยดำเนินกิจกรรม/โครงการ ดังนี้

2.1 โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแรงงานนอกระบบตามแนวทางประชารัฐ เป้าหมายดำเนินการ 2 รุ่น รุ่นละ 250 คน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2 รุ่น รวมจำนวน 544 คน คิดเป็นร้อยละ 105 ของเป้าหมายการดำเนินการ

2.2 โครงการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 60 คน มีผู้คนเข้าร่วมโครงการ 5 รุ่น รวมจำนวน 315 คน คิดเป็นร้อยละ 109 ของเป้าหมายดำเนินการ

2.3 กิจกรรมสำรวจเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มีกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน จำนวน 961 กลุ่ม สมาชิก 5,799 คน

3. การปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

ได้พิจารณายกร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ดังนี้

3.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือประเภทงานที่ห้ามผู้จ้างงานจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เครื่อมือเครื่องจักรและส่งผลให้ผู้ทำได้รับความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย งานเกี่ยวกับความร้อนหรือเย็นจัด และงานอื่นที่อาจกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม

3.2 ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ อัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพที่ให้ผู้จ้างงานจ่าย พ.ศ. .... เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงาน ให้ได้รับการดูแล รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพตามที่กฎหมายกำหนด

4. พัฒนาและส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการจ้างงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ทำการวิจัยพัฒนา แนวปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานในการจ้างงานของผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย โดยจะจัดทำแนวทางการกำหนดอัตราค่าตอบแทนรายชิ้นในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตแหอวน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศแปลงานวิจัยเป็นภาษาไทย

5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้าน

5.1 ควรปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 และผลักดันกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

5.2 ควรจัดทำฐานข้อมูลผู้จ้างและผู้รับงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อใช้ใน การวางแผนและกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ

5.3 ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้รับงานเพื่อให้มีความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองกับผู้จ้างงาน

5.4 ควรมีการประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ผู้รับงาน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ