โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า

ข่าวการเมือง Tuesday July 21, 2020 18:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า และมอบหมายให้กระทรวง

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่าตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง

1. ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดทำโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า โดยให้ครอบคลุมถึงป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุ และที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร

2. โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

2.1 ความเป็นมา

(1) พื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทย มีจำนวน 22 ลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 320,673,673 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่า 101,721,291 ไร่ และไม่มีสภาพป่า 218,952,382 ไร่ โดยมีพื้นที่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1,2 ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศจำนวน 84,471,153 ไร่ (พื้นที่ป่า/พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ/พื้นที่ป่าอนุรักษ์/ อื่นๆ) พบว่ามีสภาพป่า 71,753,156 ไร่ (84.94%) และไม่มีสภาพป่า 12,717,998 ไร่ (15.06%) ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายจำนวน 10,152,740.44 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ จำนวน 2,565,257.56 ไร่

(2) ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ต่อพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ร้อยละ 35 (คิดเป็นพื้นที่ 112.35 ล้านไร่) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 (คิดเป็นพื้นที่ 48.15 ล้านไร่) และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 (คิดเป็นพื้นที่ 16.05 ล้านไร่)

2.2 วัตถุประสงค์

(1) พลิกฟื้นผืนป่าเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

(2) สร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

(3) พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าและพื้นที่ รอบเขตป่าให้สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

2.3 หลักการดำเนินงาน

(1) ประยุกต์แนวพระราชดำริ “คนอยู่กับป่า” ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำและชุมชน ให้สอดคล้องกับภูมิสังคม

(2) ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ตามลักษณะภูมิสังคมเพื่อสร้างและฟื้นคืนระบบนิเวศต้นน้ำ

(3) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อฟื้นคืนระบบนิเวศป่าต้นน้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำหลาก และอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักของประเทศ

(4) ส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการป้องกันไฟป่า

2.4 ลักษณะพื้นที่เป้าหมายโครงการ

(1) พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศ ที่เสื่อมโทรม และ/หรือถูกบุกรุกจากนายทุน

(2) พื้นที่ป่าชุมชน ป่าพรุ และป่าชายเลนที่มีชุมชนอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ รวมทั้งพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่า

(3) พื้นที่ต้นน้ำในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ที่เสื่อมโทรมและเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้ง น้ำหลาก และน้ำท่วม

2.5 เป้าหมายจำนวนพื้นที่ปลูกป่าและฟื้นฟูป่า (ปี พ.ศ. 2563 - 2570 มีพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟู และมีพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่าภายใต้โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่าเพิ่มขึ้น รวมกันจำนวนไม่ต่ำกว่า 2.68 ล้านไร่ ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร)

(1) ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน (ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 และแล้วเสร็จภายใน 28 ก.ค. 2563)

(1.1) จังหวัดเร่งด่วน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช ปลูกป่าไม่ต่ำกว่า 1,010 ไร่ และทำฝายเพิ่มความชุ่มชื้นของระบบนิเวศน์ พื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง

(1.2) จังหวัดอื่นนอกเหนือจากจังหวัดเร่งด่วน จำนวน 71 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) ปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ รวมทั้งประเทศ 7,100 ไร่

(2) ระยะที่ 2 และ 3 (ดำเนินการในปี พ.ศ. 2563-2570)

(2.1) ปี พ.ศ. 2563-2565 ฟื้นฟูป่าในจังหวัดเร่งด่วน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช จำนวนรวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 11,000 ไร่ รวม 2 ปี ไม่ต่ำกว่า 22,000 ไร่ รวมทั้ง ฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่าใน 71 จังหวัดที่เหลือ (รวมกรุงเทพมหานคร) เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ต่อปี รวม 71 จังหวัด 7,100 ไร่ต่อปี รวม 2 ปี จำนวน 14,200 ไร่

(2.2) ปี พ.ศ. 2565-2570 กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าจำนวนร้อยละ 15-20 ของพื้นที่ต้นน้ำ (ชั้นคุณภาพน้ำ 1 และ 2) ที่เสื่อมสภาพและมีการใช้ประโยชน์ จากราษฎรจำนวน 12.7 ล้านไร่ (ป่าสงวนแห่งชาติ/ ป่าอนุรักษ์/ อื่นๆ) ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชนเฉลี่ยแห่งละ 50 ไร่ จาก 11,327 แห่ง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 0.153 ล้านไร่ จากพื้นที่ป่าชายเลนตามกฎหมายจำนวน 1.5 ล้านไร่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 20,000 ไร่ รวมทั้ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าตามกฎหมาย เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ ต่อปี รวม 5 ปี จังหวัดละ 500 ไร่

2.6 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

(1) สร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

(2) สร้างความมั่นคงของคุณภาพชีวิตของชุมชนทั้งในและนอกเขตป่า

(3) สามารถลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอนาคต ได้จากการที่มีพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น

3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบร่วมกันให้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ดังนี้

3.1 จัดฝึกอบรมหลักสูตร “จิตอาสา” ตามโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) ฝึกอบรมระดับปฏิบัติการ (ระดับอำเภอ ระดับตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จำนวน 150 คน ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

(2) เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด รับฟังนโยบายการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า รวมทั้ง รับฟังการสรุปการฝึกอบรมระดับปฏิบัติการ ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยเรียนเชิญผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นประธานการประชุม

3.2 จัดพิธีเปิดโครงการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) จัดพิธีเปิดโครงการในพื้นที่จังหวัดพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

(2) จัดพิธีเปิดโครงการหลัก ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี อำเภอ แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยกราบเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เรียนเชิญคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมงาน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ