ร่างแผนปฏิบัติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562 – 2565

ข่าวการเมือง Wednesday July 29, 2020 16:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ* ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562 – 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

  • เขตสุขภาพพิเศษ หมายถึง พื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะแตกต่างจากพื้นที่ปกติ และไม่สามารถใช้แนวทางบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขแบบทั่วไปเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม ประกอบด้วย เขตพื้นที่สาธารณสุขทางทะเล เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตพื้นที่สาธารณสุขชายแดน และเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว)

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ. รายงานว่า

1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ (คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 92/2561 ลงวันที่ 23 เมษายน 2561) โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กรอบทิศทาง ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในภาวะปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน และการจัดระบบดูแลสุขภาพประชาชนที่เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ โดยมีเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

2. สธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างแผนปฏิบัติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562 – 2565 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวรวมทั้งกรอบวงเงินงบประมาณและให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

3. สธ. แจ้งว่า ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ 2561 - 2580) ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง โดยมุ่งเน้นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ให้มีความเชื่อมโยงกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับแต่ละพื้นที่ (2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันในการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในบริเวณพื้นที่เฉพาะ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขเฉพาะด้าน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนด้านการแข่งขันของประเทศ (3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีโดยเน้นปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยได้ตามมาตรฐานสากล (4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในการพัฒนาบริการด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับอย่างเพียงพอ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกกลุ่ม และสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เช่น แผนแม่บทการเสริมสร้างความมั่นคง แผนแม่บทการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และแผนแม่บทการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นต้น รวมทั้งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนคือประชาชนมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพโดยประเทศสามารถรองรับค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพได้อย่างยั่งยืน และมีแหล่งเงินที่เพียงพอสำหรับการจัดบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เกี่ยวกับประเด็นด้านสาธารณสุขใน 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจัดบริการด้านสุขภาพให้กับประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และกระจายการให้บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมและทั่วถึง และ (2) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน โดยสร้างความร่วมมือในประเทศ/ต่างประเทศในการวางระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

4. ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ / สาระสำคัญ

วิสัยทัศน์

ประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษมีสุขภาพดี นำไปสู่ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

พันธกิจ

ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ

วัตถุประสงค์

1. สามารถจัดบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของทุกพื้นที่ในประเทศ

2. ประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม

3. มีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ

เป้าหมาย

1. ประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษมีสุขภาพดี

2. ประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุม

3. มีกลไกการจัดการอย่างบูรณาการและการสนับสนุนให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน

ระยะเวลา

ระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2565)

กรอบวงเงินงบประมาณ

รวมทั้งสิ้น 5,078.15 ล้านบาท (จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ สธ.)

ปีงบประมาณ / วงเงิน (ล้านบาท)

2562 / 504.70

2563 / 1,664.87

2564 / 1,594.71

2565 / 1,313.87

รวมทั้งสิ้น 5,078.15

ตัวชี้วัดตามเป้าหมาย

1. อัตราป่วย/ตายด้วยโรคที่สำคัญของประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษ

2. ความครอบคลุมของการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษ

3. จำนวนกลไกและระดับของการบูรณาการของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ

การดำเนินงานแผนปฏิบัติการ

ประกอบด้วยงานสาธารณสุขรวม 4 ด้าน ได้แก่

ด้านสาธารณสุขทางทะเล

สถานการณ์/สภาพปัญหา

  • ประสิทธิภาพของสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิยังจำกัด
  • ปัญหาสุขาภิบาลอาหารและน้ำในพื้นที่ทางทะเล
  • ขาดการพัฒนาความรู้ด้านเวชศาสตร์ทางทะเล

ประเด็นพัฒนา

  • บูรณาการ

เครือข่ายการดูแลและช่วยเหลือ ประชาชน/ นักท่องเที่ยว

  • พัฒนาการสาธารณสุขทางทะเลให้เป็นเลิศและมีมาตรฐานสากล
  • สร้างคุณค่าของสาธารณสุขทางทะเลสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจ

พื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด

ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี

งบประมาณ 843 ล้านบาท

ด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

สถานการณ์/สภาพปัญหา

  • มีประชากรเพิ่มขึ้นจากนโยบาย EEC
  • มีโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
  • มีปัญหาอุบัติเหตุจราจร
  • มีโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ

ประเด็นพัฒนา

  • พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่
  • ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรค จัดการ ภัยสุขภาพ และพัฒนาอาชีวเวชศาสตร์
  • ส่งเสริมการพัฒนาเป็น Medical Hub

พื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด

ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง

งบประมาณ 3,629.80 ล้านบาท

ด้านสาธารณสุขชายแดน

สถานการณ์/สภาพปัญหา

  • การเข้าถึงบริการสุขภาพของบุคคลไร้รัฐ
  • การควบคุมป้องกัน ติดตาม และรักษาโรคติดต่อเช่น วัณโรค
  • การลักลอบนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย

ประเด็นพัฒนา

  • พัฒนาศักยภาพ/กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้านระบบป้องกันสุขภาวะอนามัยในพื้นที่ชายแดน
  • คุ้มครอง ผู้บริโภคด้าน บริการสุขภาพ/ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

พื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด น่าน ตาก สระแก้ว และระนอง

งบประมาณ 578.13 ล้านบาท

ด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) สถานการณ์/สภาพปัญหา

  • ปัญหาเรื่องสุขภาพของแรงงานต่างด้าว
  • ปัญหาสถานะสิทธิ
  • แรงงานต่างด้าวไม่มีหลักประกันสุขภาพ
  • ปัญหาผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัย

ประเด็นพัฒนา

  • พัฒนารูปแบบหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
  • เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
  • จัดระบบ สนับสนุน สาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าว

พื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด ตาก ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และระยอง

งบประมาณ 27.22 ล้านบาท

กลไกการบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

1. ใช้กลไกคณะกรรมการการสาธารสุขเขตสุขภาพพิเศษในการกำหนดกรอบทิศทาง นโยบาย อำนวยการ และสนับสนุนให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ให้คำปรึกษา กำกับ ติดตาม ประเมินผลงาน และรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

2. จัดตั้งคณะอนุกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ 4 ด้าน เพื่อจัดทำ บริหารและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และรายงานต่อคณะกรรมการฯ ทราบเป็นระยะ

3. สป.สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและบูรณาการภาพรวมทั้ง 4 ด้าน

4. ประชุมชี้แจงเพื่อถ่ายทอดแผนปฏิบัติการฯ สู่การปฏิบัติของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5. จัดระบบช่องทางการสื่อสารสำหรับผู้ประสานงาน

6. สร้างกลไกในการทบทวนและปรับปรุงแผนทุก 1 ปี

7. กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน

การติดตามและประเมินผล

1. กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน โดยใช้กลไกการติดตามและประเมินผลร่วมกับแผนงานปกติ รวมถึงการประยุกต์ใช้รายงานการประเมินตนเอง

2. กำหนดให้รายงานผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่ 2 (6 เดือน) และไตรมาสที่ 4 (12 เดือน)

3. กำหนด/มอบหมายหน่วยงานใน สป.สธ. เป็นหลักในการกำกับ ติดตาม และประเมินผล

4. หน่วยงานที่เป็นแกนหลักรายงานผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือน และ 12 เดือน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

5. กำกับ ติดตาม และประเมินผลภาพรวมของแผนปฏิบัติการฯ โดยคณะกรรมการฯ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ