การกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ข่าวการเมือง Tuesday August 4, 2020 17:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)

2. อนุมัติให้ใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทตามเงื่อนไขที่กำหนดใน Asian Development Bank Ordinary Operation Loan Regulation ลงวันที่ 1 มกราคม 2560 ของ ADB

3. อนุมัติให้ กค. กู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายในแผนงาน/โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด)

4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้ฯ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

5. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) จัดเตรียมทำคำรับรองทางกฎหมาย (Legal Opinion) สำหรับสัญญาเงินกู้ฯ ของ ADB ในโอกาสแรกภายหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวแล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. ได้มีหนังสือถึง ADB เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เพื่อขอกู้เงิน COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program สำหรับนำไปใช้แผนงาน/โครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย กค. และ ADB ได้เจรจาเงื่อนไขการกู้เงิน ร่างสัญญาเงินกู้ฯ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง และได้ลงนามในบันทึกการเจรจาเงินกู้ (Minute of Negotiations) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ร่างสนธิสัญญาเงินกู้ฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ประเด็น / สาระสำคัญ

1. ผู้กู้

กค.

2. ผู้ให้กู้

ADB

3. วงเงินกู้/สกุลเงิน

1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 48,000 ล้านบาท คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)

4. อัตราดอกเบี้ย/การชำระดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (London Interbank Offered Rate: LIBOR) ระยะ 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่างร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ และวันที่ 15 สิงหาคม)

5. ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้

อัตราร้อยละ 0.15 ต่อปี (ภายหลัง 60 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย) โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย

6. อายุเงินกู้/การชำระคืนต้นเงินกู้

วงเงินที่ 1 วงเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 10 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนต้นเงินกู้โดยแบ่งชำระเป็น 14 งวด งวดละ 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2573

วงเงินที่ 2 วงเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 5 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนต้นเงินกู้โดยแบ่งชำระเป็น 4 งวด งวดละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

7. ระยะเวลาสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินกู้

30 มิถุนายน 2564

8. เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกู้

เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการ/แผนงานเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยจะต้องไม่เป็นโครงการ/แผนงาน ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ของ ADB

ในส่วนของการขออนุมัติให้ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทตามเงื่อนไขที่กำหนด General Terms and Conditions for Japanese ODA Loans (GTC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ร่างสัญญาเงินกู้ภายใต้กรอบของหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ไว้ว่า ไม่เป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากร่างสัญญาเงินกู้ดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างรัฐกับหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ มิใช่ระหว่างรัฐกับองค์กรเอกชน

ภายหลังจากการกู้เงินจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะเท่ากับร้อยละ 2.41 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563) และกระทรวงการคลังจะดำเนินการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (CCS) เมื่อภาวะตลาดเอื้ออำนวย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ