รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่าง ๆ

ข่าวการเมือง Thursday August 13, 2020 19:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ทั้ง 3 ข้อ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ค.ต.ป. เสนอ ดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2

2. รับทราบรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2

3. เห็นชอบข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. โดยให้รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ที่มีประเด็นสมควรปรับปรุงแก้ไข รับข้อเสนอแนะและพิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ค.ต.ป. รายงานว่า ค.ต.ป. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2 และรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2 สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2

ประเด็น - ข้อเสนอแนะในภาพรวม

1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

1.1) ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รับผิดชอบแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ EEC เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

1.2) ให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (จำกัด) (มหาชน) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในการหาสถานที่การจัดเก็บน้ำสำรอง

1.3) ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ กปภ. กำหนดแผนงานและระยะเวลาการดำเนินการให้ชัดเจน และจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนงาน/โครงการที่กำหนดในแต่ละปี

1.4) รัฐบาลควรให้ความสำคัญและส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตน้ำจืดที่ใช้น้ำทะเลมาผลิต อุตสาหกรรมที่มีนโยบายการประหยัดน้ำหรือการบำบัดน้ำเสีย และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อย รวมทั้งเชิญชวนให้ภาคเอกชนสร้างอ่างเก็บน้ำ

2) การพัฒนาเด็กปฐมวัย

2.1) ให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการบูรณาการพัฒนาเด็กปฐมวัย และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา บูรณาการการทำงานเรื่องเด็กปฐมวัยทั้งด้านบริการสธารณสุข การจัดการศึกษาการจัดสวัสดิการ และการคุ้มครองสิทธิแก่เด็กปฐมวัย

2.2) ให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่จัดให้มีระบบฝึกอบรมและระบบให้คำปรึกษาแนะนำ และจัดระบบพี่เลี้ยงให้ครูและผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งให้คณะกรรมการด้านการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบกำกับดูแลศูนย์เด็กเล็ก

3) การบริหารจัดการขยะ

3.1) ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกรุงเทพมหานคร รณรงค์และสร้างจิตสำนึกในการทิ้งขยะและคัดแยกขยะ

3.2) ให้ มท. และ ทส. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลขยะของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

3.3) รัฐบาลควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว และนำภาษีมาใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและจัดตั้งคณะกรรมการในการบริหารจัดการขยะในภาพรวมของประเทศ

4) ระบบข้อมูลภาครัฐเพื่อการตัดสินใจ

ให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายในของระบบการจำแนกหรือการแบ่งกลุ่มให้ตรงกัน เพื่อให้รับข้อมูลเข้าจากระบบ eMENSCR ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดมาตรการการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล บูรณาการระบบ การวางแผน ติดตามประเมินผลของหน่วยงานกลางต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการพัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ

5) การวิจัยและนวัตกรรม

5.1) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกแบบระบบการติดตามและประเมินผลของระบบวิจัยและนวัตกรรมให้ครอบคลุมระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผน ระดับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับปฏิบัติ

5.2) คณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประเมินระดับนโยบายและยุทธศาสตร์จะต้องมีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 กับนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ

5.3) ให้ อว. มีระบบข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ (Open Data Access) ข้อมูลมีความถูกต้อง สามารถวิเคราะห์ผลได้ทันเวลา และกำหนดบทบาทและขอบเขตของการติดตามและประเมินผลของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562

6) การบริหารงานจังหวัดกลุ่มจังหวัดและภาค

6.1) ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ทบทวนการกำหนดแผนงานตาม “โครงสร้างงบประมาณตามยุทธศาสตร์” ปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณของส่วนราชการภายใต้แผนงานบูรณาการในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์และปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค

6.2) ให้ มท. พิจารณาทบทวนแนวทางการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง

6.3) ให้ ทส. และหน่วยงานที่กี่ยวข้อง สนับสนุนการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

7) ภาพรวมผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่มีดังนี้

7.1) ด้านการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการ เช่น การส่งเสริมด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ควรจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศให้ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันการเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

7.2) ด้านบุคลากร เช่น บุคลากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานเฉพาะด้านยังไม่เพียงพอ

7.3) ด้านการปรับปรุงมาตรการ กฎระเบียบและกฎหมาย เช่น การกำหนดมาตรการ กฎระเบียบ และกฎหมายไม่ครอบคลุมและชัดเจน

7.4) ด้านการพัฒนาฐานข้อมูลแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ยังไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน

7.5) ด้านงบประมาณ เช่น งบประมาณที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอ

8) ผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (อ.ค.ต.ป.) คณะต่าง ๆ และ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงในภาพรวม

ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาศึกษา วิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการบูรณาการการทำงานของภาครัฐ โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อศึกษาหาแนวทางการทำงานเรื่องการบูรณาการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและชัดเจน

2. รายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2

ผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ในภาพรวม ทั้งรายคณะและรายบุคคล พบว่า มีผลการปฏิบัติงานในภาพรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับดีเยี่ยม อย่างไรก็ตาม ค.ต.ป. ได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีระบบฐานข้อมูลสนับสนุนที่เป็นปัจจุบันและเพียงพอต่อการประเมิน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และแผนงาน/โครงการสำคัญ เพื่อให้การวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะเกิดประสิทธิผลและมีความสมบูรณ์ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้ง ควรเลือกประเด็นการตรวจสอบที่สำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง และควรมีการบูรณาการการตรวจประเมินในเรื่องที่เป็น Agenda สำคัญร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการคณะต่าง ๆ

3. สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ค.ต.ป. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยได้กำหนดกรอบแนวทางในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และให้ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงเลือกตรวจประเด็นตามตัวชี้วัดของกระทรวง รวมทั้งให้มีการประสานการบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่าง ค.ต.ป.ประจำกระทรวง และ อ.ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ และพัฒนาระบบสารสนเทศการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสนับสนุนข้อมูลการทำงาน และเป็นช่องทางใน การรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และรายงานผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป.

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ