(ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2563–2565 (ฉบับปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี)

ข่าวการเมือง Tuesday August 18, 2020 18:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2563 – 2565 (ฉบับปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) [(ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ)] และมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานสื่อสารมวลชนของประเทศดำเนินการตาม (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) โดยกำหนดแผนงาน โครงการ ตัวชี้วัดประจำปีให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดภาพรวมของ (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) แล้วนำแผนงาน โครงการ ตัวชี้วัดประจำปีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่แผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงาน พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานต่อ กปช. และในระบบ eMENSCR ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้วย ตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) เสนอ

ทั้งนี้ ภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการภายใต้นโยบายและแผนดังกล่าว เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 มาดำเนินการ สำหรับค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป เห็นควรให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กปช. รายงานว่า

1. นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2559 - 2564) (ฉบับปัจจุบัน) ได้จัดทำขึ้นก่อนมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ประกอบกับในปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ การขาดความรู้เท่าทันสื่อของประชาชนทำให้ไม่สามารถแยกแยะคุณภาพของข้อมูลข่าวสารและคุณภาพของสื่อได้ ทำให้หลงเชื่อข่าวสารที่เป็นข่าวปลอม (Fake News) ดังนั้น กปช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2559 - 2564) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางหลักในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานสื่อสารมวลชนของประเทศ

2. (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 3 จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 10 การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม แผนย่อยที่ 3 การใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมของคนในสังคม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนเพื่อปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรม และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในสังคม ทั้งนี้ กปช. ได้เสนอ (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) ให้ สศช. พิจารณาดำเนินการตามแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการด้วยแล้ว

3. สาระสำคัญของ (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) สรุปได้ ดังนี้

3.1 วิสัยทัศน์ : การประชาสัมพันธ์ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อกัน สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของชาติในสายตาของประชาคมโลก

3.2 แนวทางการพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ/เป้าหมายและตัวชี้วัดระดับแนวทางการพัฒนา

แนวทางการพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ

แนวทางที่ 1 สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ

เป้าหมาย

ประชาชนมีความตระหนักรู้และเข้าใจต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ

ตัวชี้วัด

ร้อยละของประชาชนไทยที่มีความตระหนักรู้เละเข้าใจเรื่องสื่อสารที่สำคัญ (ร้อยละ 70 ในปี 2565)

แนวทางที่ 2 สร้างความตระหนักรู้ ทัศนคติเชิงบวกและการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยและชาวต่างประเทศต่อการต่างประเทศ

เป้าหมาย

ประชาชนไทยและชาวต่างประเทศมีความตระหนักรู้ มีทัศนคติเชิงบวก และมีส่วนร่วมกับการต่างประเทศ

ตัวชี้วัด

ร้อยละของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีความตระหนักรู้ มีทัศนคติเชิงบวก และมีส่วนร่วมต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (ร้อยละ 70 ในปี 2565)

แนวทางที่ 3 บริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ สร้างการรู้เท่าทันและการมีส่วนร่วม

เป้าหมาย

ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประเทศได้อย่างเท่าเทียม และทันต่อสถานการณ์ สามารถนำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์และเป็นแนวทางปฏิบัติได้จริง และร่วมกันต่อต้านข่าวปลอม (Fake News)

ตัวชี้วัด

ร้อยละของประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประเทศตามช่องทางการสื่อสารของแต่ละหน่วยงานในแต่ละปี (ร้อยละ 70 ในปี 2565)

ร้อยละของประชาชนที่นำข้อมูลข่าวสารของประเทศไปใช้ประโยชน์ได้ทันต่อสถานการณ์ (ร้อยละ 70 ในปี 2565)

แนวทางที่ 4 ยกระดับบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล

บุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารมวลชนของประเทศในยุคดิจิทัลมีความเชี่ยวชาญในการผลิตข้อมูลข่าวสารและสื่อที่มีคุณภาพสอดรับกับประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

ตัวชี้วัด

ร้อยละของบุคลากรที่ผ่านการพัฒนาที่สามารถผลิตข้อมูลข่าวสารและสื่อที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพในแต่ละปี (ร้อยละ 70 ในปี 2565)

3.3 การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผล (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) สรุปได้ ดังนี้

1) สร้างความรู้ความเข้าใจ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ (ร่าง) นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ฯ (ฉบับปรับปรุงฯ) ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ประจำปีของหน่วยงาน พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ระดับหน่วยงานให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ พ.ศ. 2553 ข้อ 13 ทั้งนี้ ในระยะแรก ให้หน่วยงานของรัฐมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญและการมีส่วนร่วมของคนไทยและชาวต่างชาติต่อการประชาสัมพันธ์ของประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย (Branding) โดยเฉพาะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางสังคมออนไลน์ที่มีผู้เข้าถึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน (Bottom up) โดยเฉพาะในระดับพื้นที่และชุมชนเพื่อนำไปสู่การรู้เท่าทันและร่วมกันต่อต้านข่าวปลอม รวมทั้งกำหนดมาตรการรองรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อาทิ คนพิการ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญได้ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤตด้วย

3) พัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการหลักภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ รวมทั้งสนับสนุนมาตรการจูงใจการให้สิทธิประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือและเกิดการเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน

4) จัดให้มีการติดตามประเมินผลโดยพิจารณาทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดในระดับโครงการที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานในแต่ละปี รวมทั้งพิจารณาทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดให้มีการถ่ายระดับจากตัวชี้วัดภาพรวมไปสู่ตัวชี้วัดระดับแผนงาน/โครงการ เพื่อให้นำไปสู่การติดตามประเมินผลลัพธ์ในทุกระดับได้อย่างเป็นรูปธรรม

5) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ เพื่อกำหนดเนื้อหาและช่องทางการสื่อสารให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย หรือประเมินข้อดีข้อเสียของแผนการประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มประชาชนสามารถสะท้อนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง (Two – way Communication) ระหว่างหน่วยงานกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

6) จัดให้มีการใช้วิทยาการข้อมูล (Data Science) ในการวิเคราะห์ข้อมูลการสื่อสารผ่านสื่อสังคม (Social Monitoring) เพื่อวิเคราะห์การสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ในการประเมินประเด็นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ