ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday September 1, 2020 18:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ สธ. เสนอ เป็นการกำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขา การประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บริการด้านฉุกเฉินการแพทย์แก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินนอกที่ตั้งสถานพยาบาล รวมถึงการเคลื่อนย้ายหรือลำเลียงผู้ป่วยตั้งแต่ที่เกิดเหตุจนถึงสถานพยาบาล เพื่อให้การให้บริการมีมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ เพื่อให้ การช่วยเหลือและรักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ทันเวลา ลดความสูญเสียและความพิการ ซึ่งคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดนิยามคำว่า “ฉุกเฉินการแพทย์” และ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”

2. กำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการ คณบดีของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการวิชาชีพที่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นต้น

4. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการวิชาชีพ และเหตุแห่งการพ้นจากการดำรงตำแหน่งของกรรมการ

5. กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ให้เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาฉุกเฉินการแพทย์จากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์รับรอง และต้องสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์กำหนด ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดแล้ว ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์จากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย และกรณีผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาอื่นด้านฉุกเฉินการแพทย์ ด้านการแพทย์ ด้านการพยาบาล หรือด้านทันตกรรมอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือองค์กรใดที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์รับรองให้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ภายในห้าปีนับแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ