รายงานผลการชดเชยส่วนต่างราคาหน้ากากอนามัย

ข่าวการเมือง Tuesday September 22, 2020 18:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ รายงานผลการชดเชยส่วน ต่างราคาหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 มีนาคม 2563) เห็นชอบให้ พณ. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการหน้ากากอนามัยไปยังสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่ง พณ. ได้รับจัดสรรงบประมาณค่าชดเชยส่วนต่างราคาหน้ากากอนามัยให้ผู้ผลิต 11 ราย จำนวน 108 ล้านบาท สรุปผลการดำเนินการได้ดังนี้

1. พณ. โดยกรมการค้าภายในได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัย (คณะกรรมการฯ) โดยได้ดำเนินการดังนี้

1.1 ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาการชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัยให้โรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ตามโครงการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้เพียงพอและเป็นธรรม

1.2 จัดประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เพื่อพิจารณาเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้เพียงพอและเป็นธรรม (ตั้งแต่วันที่ 6-29 มีนาคม 2563) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.2.1 การผลิตหน้ากากอนามัย มีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 9 ราย (จากเดิมมีผู้ผลิต 11 ราย แต่เนื่องจากมีผู้ผลิต 2 รายที่เป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยชนิค 3D) ที่ได้รับจัดสรรหน้ากากอนามัยตามคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตั้งแต่วันที่ 6-29 มีนาคม 2563 รวมจำนวนทั้งสิ้น 39,566,500 ชิ้น ประกอบด้วย

บริษัท / จำนวนหน้ากากอนามัย (ชิ้น)

1. บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด 11,470,000

2. บริษัท เมด-คอน (ประเทศไทย) จำกัด 9,801,500

3. บริษัท ทรู ไลน์ เมด จำกัด 8,888,000

4. บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด 2,991,000

5. บริษัท ไอรีมา (ประเทศไทย) 1,250,000

6. บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด (มหาชน) 1,211,000

7. บริษัท ไอโอเซฟ โปรดักส์ จำกัด 1,225,000

8. บริษัท ท๊อป โฮลซัม จำกัด 1,030,000

9. บริษัท เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 1,700,000

1.2.2 การยื่นขอรับการชดเชย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการยื่นขอรับการชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัย (วันที่ 18 พฤษภาคม 2563) พบว่า

1.2.2.1 ผู้ผลิต 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด และบริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ขอรับการชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัย

1.2.2.2 ผู้ผลิต 1 ราย คือ บริษัท ท็อป โฮลซัม จำกัด ไม่ขอรับการชดเชยราคาหน้ากากอนามัย เนื่องจากในช่วงวันที่ 6-29 มีนาคม 2563 บริษัทยังมีวัตถุดิบคงเหลือบางชนิดและเป็นราคาเดิม ยกเว้นวัตถุดิบบางชนิดที่ปรับขึ้นเล็กน้อย ซึ่งบริษัทสามารถบริหารจัดการได้

1.2.2.3 มีผู้ผลิต 6 ราย ไม่แจ้งขอรับการชดเชย

2. กรมการค้าภายในได้พิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ผลิตที่ขอรับการชดเชยจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด และบริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด พบว่าไม่เป็นไปตามหลักกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยที่จะต้องคำนวณส่วนต่างที่จะชดเชยให้โรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยระหว่างต้นทุนการผลิตกับราคาขายส่งหน้ากากอนามัย (ชิ้นละ 2 บาท) ซึ่งจะจ่ายชดเชยให้ในส่วนของต้นทุนที่สูงกว่าราคาขายตามความเป็นจริงแต่ไม่เกินชิ้นละ 1 บาท ดังนั้น กรมการค้าภายในจึงไม่จ่ายเงินชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัยให้โรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ราย ทั้งนี้ ได้แจ้งผลพิจารณาการชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัยให้บริษัทดังกล่าวทราบด้วยแล้ว ซึ่งบริษัทสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่ออธิบดีกรมการค้าภายในได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผลปรากฏว่าไม่มีบริษัทใดแจ้งยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จำนวน 108 ล้านบาท ซึ่ง พณ. โดยกรมการค้าภายในได้ประสานส่งคืนกรอบวงเงินงบประมาณกับ สงป. ตามขั้นตอนแล้ว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ