การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับองค์การสุขภาพสัตว์โลกว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ

ข่าวการเมือง Tuesday September 22, 2020 18:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับองค์การสุขภาพสัตว์โลกว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (MoU between the Association of Southeast Asian Nations and the World Organization for Animal Health on Technical Cooperation) และเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับองค์การสุขภาพสัตว์โลกว่าด้วยความร่วมมือทางวิชชาการ และอนุมัติในหลักการว่าก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีการแก้ไขในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้อยู่ในดุลยพินิจของเลขาธิการอาเซียน โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม(Full Powers) ให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวข้างต้น ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับองค์การสุขภาพสัตว์โลกว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบข่ายงานทั่วไป (เช่น การจัดการด้านการเงิน แนวทางการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน แนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา) เพื่อให้ประเทศที่เข้าร่วมสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันผ่านความร่วมมือทางวิชาการ ดังนี้

1. เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการด้านสุขภาพสัตว์ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ตามหลักระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์

2. เพื่อพัฒนามาตรฐานและอำนวยความสะดวกด้านการค้าสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหาร ด้านสุขภาพสัตว์และมนุษย์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและการดำรงชีวิตของประชาชนแห่งอาเซียน

3. เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการบริการทางสัตวแพทย์ภายในภูมิภาคอาเซียน

4. การดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ขึ้นอยู่กับแหล่งงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนในขณะนั้น

5. บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ต่อเนืองไปอีก 5 ปี เว้นแต่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้เข้าร่วมอีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน

ทั้งนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health - OIE) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากองค์การการค้าโลกให้เป็นองค์กรอ้างอิงสำหรับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยสำหรับการค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ระหว่างประเทศ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพสัตว์ สัตวแพทย์สาธารณสุขและสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงความโปร่งใสของสถานการณ์โรคสัตว์ ทั่วโลก

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ