ขอยกเลิกการขอใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C (สำนักงาน ป.ป.ท)

ข่าวการเมือง Tuesday September 29, 2020 18:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอยกเลิกการขอใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C (สำนักงาน ป.ป.ท) และเรื่อง การยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่ โซน C (สำนักงาน ปปง.)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงาน ปปง. รายงานว่า

1. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 กค. ได้จัดสรรพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ พื้นที่โซน C ให้กับสำนักงาน ป.ป.ท. จำนวน 20,000 ตารางเมตร และสำนักงาน ปปง. จำนวน 44,235 ตารางเมตร ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงาน ปปง. ประสงค์จะขอยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวจึงได้แจ้งกรมธนารักษ์ กค. โดยได้ขอใช้ที่ดินและอาคารที่ได้มาจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมายของสำนักงาน ปปง. มาทดแทนแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดและเหตุผลความจำเป็นในการยกเลิกการขอใช้พื้นที่ฯ สรุปได้ ดังนี้

สำนักงาน ป.ป.ท.

ประเด็น - รายละเอียด

สถานที่ทำการ (ปัจจุบัน)

สำนักงาน ป.ป.ท. ได้เช่าอาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ใช้สอยอาคารทั้งหมด 9,134.87 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานและเป็นสถานที่ในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปี 2552-2563 คิดเป็นค่าเช่ารวมทั้งสิ้น 468.071 ล้านบาท แต่สถานที่ดังกล่าวคับแคบเป็นอาคารเช่า ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่เพื่อรองรับภารกิจงานได้ ประกอบกับ มีผู้รับบริการจำนวนเพิ่มขึ้น สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ขอเข้าใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ พื้นที่โชน C เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท. ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากกรมธนารักษ์ รวมทั้งสิ้น20,000 ตารางเมตร

เหตุผล/การยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่ศูนย์ราชการฯ

เนื่องจากสำนักงาน ป.ปท. เป็นองค์กรหลักของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยเป็นศูนย์กลางด้านการป้องกันการปราบปรามและการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ท. ควรจัดหาที่ดินเพื่อสร้างอาคารสำนักงานเป็นของตนเองให้มีพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นสัดส่วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในด้านเอกสารคดีและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นภารกิจลับที่มีความหลากหลายและแตกต่างจากภารกิจของส่วนราชการอื่น ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ขอยกเลิกเข้าใช้พื้นที่ศูนย์ราชการฯ ต่อกรมธนารักษ์ (วันที่ 18 กันยายน 2562)

สถานที่ทำการ (ใหม่)

สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ขอใช้ประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงาน ปปง. (ที่ตั้งในตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน รวมเนื้อที่ทรัพย์สิน จำนวน 6 ไร่ 2 งาน 98.4 ตารางวา) เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคสนามในการฝึกทักษะให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ และข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งปัจจุบันเลขาธิการ ปปง. ได้อนุญาตให้สำนักงาน ป.ป.ท. ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว และได้มีการส่งมอบทรัพย์สิน (ที่ดิน) ให้สำนักงาน ป.ป.ท. แล้วเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2562

สถานที่ทำการ (ปัจจุบัน)

สถานที่ทำการของสำนักงาน ปปง. ในปัจจุบัน มี 3 แห่ง ประกอบด้วย อาคารสูง 12 ชั้น ตั้งอยู่ (ในที่ราชพัสดุ) แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ จำนวน 11,564 ตารางเมตร รองรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้เพียง 500 คน จากจำนวนอัตรากำลังทั้งหมด จำนวน 800 คน ดังนั้น สำนักงาน ปปง. จึงได้เช่าอาคารเอกชนเพิ่มเติม (สัญญาปีต่อปี) จำนวน 2 แห่ง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน โดยมีพื้นที่รวมประมาณ 3,240 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 300 คน และเนื่องจากสำนักงาน ปปง. มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงน ปปง. และสำหรับเป็นพื้นที่เก็บทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดตามกฎหมาย สำนักงาน ปปง. จึงได้ขอเข้าใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ พื้นที่โชน C รวมทั้งสิ้น 44,235 ตารางเมตร เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงาน ปปง.

เหตุผล/การยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่ศูนย์ราชการฯ

การเช่าอาคารเอกชนทั้ง 2 แห่ง ทำให้สำนักงาน ปปง. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าเป็นเงินปีละประมาณ 21.30 ล้านบาท ประกอบกับศูนย์ราชการฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 ปี ส่งผลทำให้สำนักงาน ปปง. จำเป็นต้องเช่าอาคารเอกชนต่อไปอีก 4-5 ปี ซึ่งจะทำให้เสียค่าเช่าเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ยังมีระบบศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ (Data Center) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และใช้งบประมาณในการดำเนินการเป็นเงินทั้งสิ้น 208 ล้านบาท หากจะต้องย้ายที่ทำการไปยังศูนย์ราชการฯ พื้นที่โชน C ทั้งหมด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายและติดตั้งระบบดังกล่าวใหม่เป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงน ปปง. จึงได้ขอยกเลิกเข้าใช้พื้นที่ศูนย์ราชการฯ ต่อกรมธนารักษ์ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2562)

สถานที่ทำการ (ใหม่)

ปัจจุบันสำนักงาน ปปง. ได้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นอาคารพร้อมที่จอดรถสูง 7 ชั้น จำนวน 2 อาคารและอาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ซอย 20 (ใกล้กับที่ตั้งของศาลแพ่ง) สำนักงาน ปปง. พิจารณาแล้วเห็นว่า อาคารดังกล่าวมีความเหมาะสม สามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. และมีพื้นที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน สามารถรองรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน จึงได้ขอใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าวเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแชมอาคารดังกล่าวข้างต้นเพียง 12 ล้านบาท ก็สามารถเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการปฏิบัติงานได้ภายในเวลา 6 เดือน ส่งผลทำให้ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้ เลขาธิการ ปปง. ได้อนุญาตให้สำนักงาน ปปง. เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารดังกล่าวแล้ว

2. สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงาน ปปง. ได้ส่งเรื่องเกี่ยวกับการขอยกเลิกการใช้พื้นที่ศูนย์ราชการฯ ต่อกรมธนารักษ์แล้ว โดยกรมธนารักษ์พิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้

2.1 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 พฤศจิกายน 2561) อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) โดยมีหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรพื้นที่ 11 หน่วยงาน (รวมถึงสำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงาน ปปง.) นั้น ปัจจุบัน กค. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ได้จัดหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศให้ ธพส. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จและให้ส่วนราชการเข้าใช้พื้นที่ได้ในปี 2566 และขณะนี้อยู่ระหว่างกรมธนารักษ์เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการค่าเช่าอาคารโครงการศูนย์ราชการฯ พื้นที่โชน C ให้กับ ธพส. แทนหน่วยงานที่เข้าใช้ประโยชน์ โดยมีกำหนดเวลา 30 ปี

2.2 กรณีสำนักงาน ป.ป.ท.และสำนักงาน ปปง. ขอยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ พื้นที่โชน C จะต้องดำเนินการตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 และวันที่ 11 ธันวาคม 2550 กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติงานในศูนย์ราชการฯ ไว้แล้ว จะต้องแจ้งเหตุผลความจำเป็นที่จะขอยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี พร้อมทั้งเสนอเรื่องขอยกเลิกการใช้พื้นที่ในศูนย์ราชการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาไปพร้อมกันด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ