นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ปี 2564 - 2566

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2020 18:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี โดยกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้า (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ปี 2564 - 2566 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ตามที่คณะกรรมการนโยบายอาหารเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายอาหารรายงานว่า

1. คณะกรรมการนโยบายอาหารพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี เพื่อบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม และสามารถเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสม รวมถึงให้เกิดความต่อเนื่องของมาตรการ โดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

2. คณะกรรมการนโยบายอาหาร ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 79) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 มีมติเห็นชอบนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี โดยกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าปี 2564 - 2566 ให้คงนโยบายและมาตรการนำเข้า เช่นเดียวกับปี 2561 - 2563 ทุกกรอบการค้า และจากประเทศนอกความตกลง ยกเว้นกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันในกรอบระยะเวลาปี 2564 - 2566 ให้กำหนดนโยบายและมาตรการตามข้อผูกพันของกรอบ ปี 2564 - 2566 มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

2.1 กากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.90 รหัสสถิติ 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ในภาคการเลี้ยงสัตว์ในประเทศและอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อสัตว์ (การนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าในโควตาภายใต้ WTO) ดังนี้

2.1.1 การนำเข้าภายใต้ WTO

ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 2 ผู้มีสิทธินำเข้าทั้งสิ้น 11 ราย (สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ชุมชุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด สมาคมพ่อค้าพืชผลไทย และสมาคมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป) หากมีผู้ยื่นขอมีสิทธินำเข้ารายใหม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการนโยบายอาหารพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธินำเข้าให้การสนับสนุนรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด (ให้กรมการค้าภายในพิจารณาให้สอดคล้องกับราคารับซื้อขั้นต่ำเมล็ดถั่วเหลืองเกรดสกัดน้ำมันที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนด โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการนโยบายอาหาร) โดยทำสัญญาปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวกับ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และต้องรายงานปริมาณการนำเข้า การจำหน่าย และการใช้กากถั่วเหลืองนำเข้า ตามแบบรายงานที่กรมการค้าภายในกำหนดเป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในประเทศ

นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 119

2.1.2 การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น ๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0 ]

2.1.3 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท

2.2 ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.10 ต้องขออนุญาตนำเข้า และปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.20 ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า [ปลาป่นไม่อยู่ภายใต้พันธกรณีการเปิดตลาดของไทยตามความตกลง WTO โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และมีการนำเข้าบางส่วนจากประเทศนอกความตกลง] ดังนี้

2.2.1 การนำเข้าภายใต้ทุกกรอบการค้า เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0]

2.2.2 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ปลาป่นโปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 อัตราภาษีร้อยละ 6 ปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 15

2.3 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พิกัดอัตราศุลกากร 1005.90.90.002 [การนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)] ดังนี้

2.3.1 การนำเข้าภายใต้ WTO

ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณ 54,700 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า

นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 73 และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 บาท ไม่จำกัดปริมาณ

2.3.2 การนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษี ร้อยละ 0

(1) ให้องค์การคลังสินค้านำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า

(2) ผู้นำเข้าทั่วไป กำหนดช่วงเวลานำเข้าระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 สิงหาคม ของแต่ละปี (ช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดน้อยให้นำเข้าเพื่อให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์มีวัตถุดิบที่เพียงพอในการผลิตอาหารสัตว์) และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

2.3.3 การนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA)

ในโควตา ภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ โดยต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนตามความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย สำหรับภาษีในโควตา เพื่อประกอบการนำเข้า ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลการนำเข้ามีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกโควตา ภาษีร้อยละ 65.70 ไม่จำกัดปริมาณ

2.3.4 การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น ๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อัตราภาษีร้อยละ 0]

2.3.5 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีกิโลกรัมละ 2.75 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,000 บาท

ทั้งนี้ มอบกระทรวงการคลัง (กค.) โดยกรมศุลกากร นำประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.90 รหัส 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2564 - 2566 และ พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหารเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน (ขณะนี้ กค. และ พณ. อยู่ระหว่างการร่างประกาศดังกล่าวจึงยังไม่ได้นำเสนอประกาศที่เกี่ยวข้องมาในคราวนี้)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ