ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2563

ข่าวการเมือง Tuesday November 17, 2020 18:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2563

1.1 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูงยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก

อัตราการว่างงาน ไตรมาสสาม มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.95 จากไตรมาสที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรง แรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.15 สูงสุดตั้งแต่ปี 2554 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. ร้อยละ 2.79 และ 2.73 ตามลำดับ ขณะเดียวกันแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และ 20-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นในไตรมาสนี้เช่นกันที่ร้อยละ 9.4 และ 7.9 ตามลำดับ ชี้ว่าแรงงานที่มีการศึกษาสูงและอายุน้อยเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แรงงานในระบบมีการว่างงานเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่า ผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 4.88 แสนคน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนภาคบังคับที่ร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ การว่างงานในระบบที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ขณะที่การว่างงานในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว ชี้ให้เห็นว่าแรงงานในระบบเมื่อตกงานจะเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกระบบเพิ่มขึ้น อาทิ ประกอบอาชีพอิสระ หรือทำเกษตรกรรม ซึ่งจะมีผลต่อผลิตภาพแรงงาน การว่างงานชั่วคราวปรับตัวลดลง ขณะที่ข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีสถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 จำนวน 1,387 แห่ง ครอบคลุมแรงงาน 3.3 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 7.9 แสนคน

การจ้างงานในไตรมาสสาม ปี 2563 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 เป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 1.8 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับฐานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันปีที่แล้วลดต่ำลงมากจากผลกระทบการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง ทั้งนี้ สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่ สาขาก่อสร้าง การขายส่งและขายปลีก การขนส่ง/เก็บสินค้า ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 4.6 และ 3.3 ตามลำดับ แต่สาขาการผลิตยังคงหดตัวร้อยละ 1.4 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งนอกจากคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรมแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกแต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

แม้แรงงานจะมีงานทำแต่ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจากจาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็น 41.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลาหรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ลดลงร้อยละ 19.7 ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของแรงงานที่อาจจะลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

ประเด็นที่ต้องติดตามด้านแรงงาน จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสก่อน แม้จะมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ในไตรมาสสามนี้ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ดังนี้ (1) ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่สอง ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ ภายใต้ข้อกำหนดทางสาธารณสุข แม้มาตรการดังกล่าวจะมีข้อดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอนในการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศ เพื่อมิให้เกิดการแพร่ระบาดรอบสองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงานที่รุนแรงยิ่งขึ้น (2) การเข้าร่วมมาตรการจ้างงานของรัฐ ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการที่ส่งเสริมการจ้างงานกับกลุ่มผู้ตกงานและกลับต่างจังหวัด และกลุ่มเด็กจบใหม่ที่มีปัญหาการว่างงานสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและแรงงานยังเข้าใช้มาตรการดังกล่าวน้อย โดยเฉพาะโครงการให้เงินอุดหนุนกับผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานเด็กจบใหม่ มีสถานประกอบการแจ้งความจำนงใช้มาตรการนี้แล้วจำนวน 88,564 ตำแหน่ง แต่มีแรงงานลงทะเบียนจำนวน 57,096 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงโครงการฯ 4,114 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563) (3) ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563) สถานการณ์อุทกภัยได้สร้างความเสียหายต่อครัวเรือนและพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสสี่ ปัจจุบันมี 35 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วกว่า 1.99 แสนไร่ และ (4) คุณภาพชีวิตของแรงงาน การว่างงานและการลดชั่วโมงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรงงานได้รับรายได้ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิตของแรงงาน ความสามารถในการชำระหนี้ และปัญหาความยากจน จากสถานการณ์และประเด็นข้างต้น การส่งเสริมให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และช่วยให้แรงงานปรับตัวได้มากขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบได้ ดังนี้ (1) การส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินทุนและมีสถานที่ค้าขาย อาทิ การส่งเสริมให้มีตลาดนัด หรือ Street Food ในแต่ละพื้นที่และชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางในการทำอาชีพ และสร้างรายได้ให้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบได้มากขึ้น (2) การเร่งรัดการดำเนินงานโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว จำนวน 202 โครงการ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน จ้างงาน และสร้างรายได้ ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเป็นระยะเวลา 3-12 เดือน จำนวน 3.4 แสนตำแหน่ง และ (3) การส่งเสริมการพัฒนาทักษะทั้งผู้จบการศึกษาใหม่เพื่อให้พร้อมที่จะทำงาน และผู้ที่เคยทำงานมาแล้วหรือมีงานทำให้มีทักษะเพิ่มขึ้นหรือมีทักษะใหม่ที่จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนงานได้ กลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ยังไม่สามารถหางานได้ ควรได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน อาทิ ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะการเจรจาต่อรอง สำหรับผู้ที่เคยทำงานมาแล้วหรือทำงานอยู่ ต้องพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกปี 2020 (World Economic Forum 2020) ระบุทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน อาทิ ทักษะการใช้เทคโนโลยีในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะในการให้บริการหรือการมีจิตใจในการให้บริการที่ดี ทักษะการบริหารจัดการทางการเงินและทรัพยากร ทักษะความเป็นผู้นำและการมีอิทธิพลทางสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

1.2 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 83.8 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.7 และมีสัดส่วนร้อยละ 3.12 ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 3.23 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ที่ทำให้ภาพรวมคุณภาพหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น

แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสาม ปี 2563 คาดว่า ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อหนี้ครัวเรือนไทยถือเป็นวิกฤตที่สะท้อนและตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงินและปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและสถาบันทางการเงินได้มีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มธุรกิจ ซึ่งในระยะต่อไปหากระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

1.3 การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 68.1 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยโรคเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน อาทิ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 93.4 ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 44.9 และผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 34.4 สาเหตุเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลตัวเองมากขึ้น รวมทั้งการกักตัวเองอยู่บ้าน และการเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพและโรคที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป จากการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว อาทิ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และภัยสุขภาพ อาทิ การเสียชีวิตจากอากาศหนาว ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงโรคที่มีผู้ป่วยสูงขึ้น อาทิ โรค RSV และวัณโรค

1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง ไตรมาสสาม ปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 5.5 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 7.5 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 2.5 การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นมาตรการในระดับประเทศ ทั้งการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ การจำกัดการเข้าถึง การควบคุมการตลาด และมาตรการด้านภาษีและราคา ยังขาดการให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการจัดการปัญหาระดับชุมชนท้องถิ่นที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยตรง เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชนและผู้บริโภค เข้าใจบริบททางด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างจริงจังจนเกิดเป็นข้อตกลงร่วมของคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

1.5 คดีอาญารวมลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจร

การพนันได้ง่ายจากการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ สถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับ ?Tier 2? ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ไตรมาสสาม ปี 2563 คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 25.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 27.4 คดีชีวิตร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 10.1 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 13.6 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนันได้ง่าย โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่มีความรุนแรงกว่าการพนันชนิดอื่นถึงสามเท่า ปัจจุบันมีหลายเว็บการพนันออนไลน์เปิดให้บริการเล่นการพนันต่างๆ ตลอดทั้งวัน โดยเข้าใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เล่นผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เข้าสู่วงจรการพนันสูงที่สุดจากการพบเห็นโฆษณาที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เชิญชวน ในส่วนของสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยปี 2563 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ปี 2020 ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในกลุ่ม ?Tier 2? ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยยังคงเพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวมต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประเทศไทย

1.6 การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์ที่ยังสูงเป็นลำดับแรก ไตรมาสสาม ปี 2563 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 2.7 และ 12.4 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากบุคคลสูงสุดคือ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 36 รองลงมาได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 35.6 สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ยังสูงเป็นลำดับแรก และกระแสความนิยมการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังขับสูง เช่น รถบิ๊กไบค์มีมากขึ้นทั้งยังพบการเกิดอุบัติเหตุบนถนนบ่อยครั้ง เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญกับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์ด้วยการสร้างมาตรฐานสำหรับความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

1.7 การร้องเรียนผ่าน สคบ. และกสทช. เพิ่มขึ้น ไตรมาสสาม ปี 2563 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 7.5 โดยการร้องเรียนด้านขายตรงและตลาดแบบตรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35.2 เนื่องจากมีการรวมตัวร้องเรียนบริษัทธุรกิจขายตรงที่ฉวยโอกาสจากวิกฤต COVID-19 หลอกให้ร่วมลงทุน ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการซื้อขายออนไลน์ข้ามประเทศ (Cross-Border E-Commerce : CBEC) ที่กำลังเติบโตไปตามการพัฒนาของนวัตกรรม การปรับตัวทางธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งส่งผลให้ห่วงโซ่การค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น และเกิดช่องทางในการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าที่นำเข้ามาในช่องทาง CBEC นั้นอาจมีปัญหาด้านคุณภาพ เพราะไม่ได้ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก มอก. ทำให้อาจมีการผลิตสินค้าปลอม/เลียนแบบ สินค้าไม่ได้มาตรฐาน/ใช้งานไม่ได้จริง โดยอาศัยการทำการตลาดด้านราคาเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินการเมื่อเกิดปัญหาจะมีความยากลำบาก เนื่องจากมีอุปสรรคทางด้านภาษา ระยะทาง หรือข้อจำกัดอื่นๆ ดังนั้น ควรมีมาตรการมากำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง

2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

2.1 ความพร้อมของระบบสาธารณสุขไทยกับการรับมือการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ STV (Special Tourist Visa) เป็นมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางมาตรการและแนวทางด้านสาธารณสุขสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาอย่างเคร่งครัด และได้เตรียมความพร้อมทางด้านทรัพยากรทางการแพทย์ในด้านต่างๆ อาทิ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา หน้ากาก N95 ชุด PPE รวมถึงสถานที่กักกันมากกว่าหนึ่งพันแห่ง ที่จำแนกเป็น State Quarantine (SQ) Alternative State Quarantine (ASQ) Local Quarantine (LQ) และ Organization Quarantine (OQ) ซึ่งกระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และสามารถรองรับผู้ที่ต้องเข้ารับกักตัวได้มากกว่า 46,000 คน นอกจากนี้ ยังมีเตียงจากห้อง Isolation room และห้อง AIIR-CU ในการรองรับกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาอีก 6,700 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2563) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรสาธารณสุขในด้านต่างๆ แต่การรณรงค์ให้คนไทยดูแลป้องกันตนเอง เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก และไม่ยึดติดกับการปลอดผู้ติดเชื้อในประเทศ อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับมาตรการตรวจคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต TTI (Testing-Tracing-Isolation) ซึ่งเป็นจุดคานงัดสำคัญในการรับมือและควบคุมเมื่อเกิดกรณีมีการแพร่ระบาด

2.2 สถานการณ์ปัญหาแม่วัยรุ่นในประเทศไทย สถานการณ์อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น (อายุ 15?19 ปี) ในประเทศไทยในภาพรวมลดลงจาก 51 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2558 เหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยังพบอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นมากในภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคเหนืออัตราการมีบุตร 42 คนต่อประชากร 1,000 คน ภาคใต้อัตราการมีบุตร 35 คนต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ปี (แม่วัยใส) มากที่สุดคือ ร้อยละ 0.8 โดยแม่วัยรุ่นส่วนมากมีการศึกษาน้อยคือ จบการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด 130 คนต่อประชากร 1,000 คน และจะลดลงเรื่อยๆ ตามระดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการรักษา การคงอยู่ในระบบการศึกษาของวัยรุ่นจะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว รวมทั้งครัวเรือนยากจนจะมีปัญหาแม่วัยรุ่นสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง ซึ่งมีปัญหาการมีบุตรของแม่วัยรุ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ภาวะเลือดจางในหญิงตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้าหลังการคลอดบุตร เด็กมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษ มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม มารดาวัยรุ่นจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา ส่งผลให้รายได้ที่น้อยตามระดับการศึกษาที่น้อย รายได้ไม่เพียงพอให้เลี้ยงดูบุตรได้เหมาะสม เกิดความเครียด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการส่งต่อโอกาสในการเรียนต่อในระดับสูงของเด็ก จนก่อเป็นวัฏจักรความจน (เพิ่มโอกาสเป็นแม่วัยรุ่นและการส่งต่อความยากจน) แนวทางการแก้ปัญหาแม่วัยรุ่นที่สำคัญคือ การเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังและติดตามเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่มีความเปราะบาง กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างครอบครัวและโรงเรียน การสร้างค่านิยมเรื่องเพศสัมพันธ์ที่มีสุขภาวะและการป้องกันการท้องไม่พร้อม การสอดแทรกการสอนเรื่องทักษะชีวิตและผลที่ตามมาของการท้องไม่พร้อมให้เด็กได้รับรู้ และการรักษา การคงอยู่ในระบบการศึกษาของวัยรุ่นซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว

3. บทความเรื่อง ?ผลกระทบของ COVID-19 ต่อความยากจน?

สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2531-2562 มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนคนยากจนมีแนวโน้มลดลงมาก จากร้อยละ 65.17 เมื่อปี 2531 เหลือร้อยละ 6.24 ในปี 2562 คิดเป็นจำนวน 4.3 ล้านคน หากพิจารณาเป็นระดับครัวเรือน ในปี 2562 มีครัวเรือนยากจนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.04 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.85 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 7.64 ในปี 2561 เมื่อพิจารณาลักษณะทางประชากรและทางเศรษฐกิจของคนยากจน จะพบว่า (1) คนจนมีอัตราการพึ่งพิง (จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน) สูงกว่าครัวเรือนไม่ยากจนอย่างชัดเจน (2) เด็กและเยาวชนมีปัญหาความยากจนมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุและวัยแรงงาน และ (3) ประเภทครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนมาก ได้แก่ ครัวเรือนขนาดใหญ่ ครัวเรือนแหว่งกลาง (ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก) ครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในช่วงการระบาด พบว่า ร้อยละ 54 มีรายได้ลดลง รวมทั้งมีการก่อหนี้ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่เดิมยากจนอยู่แล้ว และครัวเรือนกลุ่มที่อ่อนไหวต่อปัจจัยกระทบและอาจตกเป็นครัวเรือนยากจน ได้แก่

(1) กลุ่มครัวเรือนยากจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนยากจนเมืองที่มีภาระค่าครองชีพที่สูง และมีภาระค่าใช้จ่ายการดูแลตนเองเพื่อไม่ให้ติด COVID-19 ด้วย

(2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นครัวเรือนยากจน มีประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือน ประกอบด้วย 1) กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน มีประมาณ 6.37 แสนครัวเรือน ซึ่งประกอบด้วย ครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนสูงอายุ และครัวเรือนแหว่งกลาง 2) กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก มีประมาณ 4.67 แสนครัวเรือน ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในสาขาที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เช่น ทำงานในภาคการท่องเที่ยว หรือประกอบอาชีพอิสระ และ 3) กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อย มีประมาณ 0.49 แสนครัวเรือน แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง แต่มีโอกาสทำให้ผลผลิตและรายได้ลดลง

รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้

(1) ระยะสั้น ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือชดเชยการขาดสำหรับแรงงานอิสระและเกษตรกร จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบาง 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค การลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และ

(2) ระยะปานกลาง จัดทำพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีแผนงานรองรับเพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ โดยเน้นกิจกรรมการสร้างงานและสร้างอาชีพสามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนสร้างระบบการเรียนรู้ในการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความยากจน จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อีกระลอก จึงต้องมีมาตรการรับมือ และเร่งรัดในการแก้ไขปัญหา ได้แก่

(1) การใช้กลไกท้องถิ่นในการเข้าไปค้นหากลุ่มเป้าหมาย/ดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจตรวจสอบกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ข้อมูลการช่วยเหลือ/เยียวยากลุ่มคนจน มีความทั่วถึงและทันท่วงที

(2) การเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภค และคุณภาพชีวิตไว้ได้ และ

(3) การอำนวยความสะดวกในการสร้างงาน/สร้างอาชีพ โดยการหาตำแหน่งงานว่าง การฝึกอาชีพ และการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน/สินเชื่อที่เหมาะสม รวมทั้งการตลาดและสถานที่ค้าขาย ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ได้แก่

(1) การแก้ปัญหาด้านการเกษตรทั้งระบบ โดยเฉพาะในเรื่องเงินทุน องค์ความรู้ด้านการตลาด และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภค และ

(2) การวางแนวทางแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวโดยการสร้างหลักประกันสังคม อาทิ การเร่งขยายความคุ้มครองของการประกันตนตามมาตรา 40 การส่งเสริมการออม การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง ตลอดจนการมีระบบข้อมูลเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เน้นการพัฒนาข้อมูลที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชากรที่ยากจน กลุ่มเปราะบางต่างๆ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ