รายงานผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2563 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday November 17, 2020 18:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2563 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบการประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ได้มีการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

1.1 นาย Ernest Kwamina Yedu Addison ผู้ว่าการธนาคารกลางสาธารณรัฐกานา

  • กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาปัจจัยภายนอกสูง
  • การส่งออกสินค้าและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคแรงงาน
  • การหยุดการเรียนการสอนของโรงเรียนอาจนำไปสู่การสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาว

ข้อเสนอแนะ ควรเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีคนเป็นศูนย์กลางอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

1.2 นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

  • สภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2563 มีแนวโน้มจะหดตัวร้อยละ 4.4
  • IMF พร้อมสนับสนุนโครงการพักชำระหนี้ในระดับทวิภาคี เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว

ข้อเสนอแนะ ประเทศสมาชิกควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ไปยังการสร้างงานและการยกระดับคุณภาพชีวิต การปฏิรูปนโยบายการเงินการคลัง และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการค้าและสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

1.3 นาย David Malpass ประธานธนาคารโลก

  • สถานการณ์ COVID-19 จะเพิ่มจำนวนคนที่ยากจนที่สุด (รายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) ประมาณ 110-150 ล้านคนทั่วโลก ในปี 2564 และส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ เด็กและสตรีมากที่สุด
  • ธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนไปแล้วกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะคงให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกเพื่อขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาว

ข้อเสนอแนะ ประเทศกลุ่ม G20 ควรขยายเวลาของโครงการพักชำระหนี้ออกไปเพื่อลดภาระหนี้ของประเทศยากจน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลกของประเทศไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งนี้ ในระยะกลางและระยะยาวจะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้งเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 102 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมในฐานะผู้แทนกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเด็นหลัก เช่น การสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินของกลุ่มธนาคารโลกเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิกจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การสนับสนุนการทบทวนสัดส่วนผู้ถือหุ้นและอำนาจออกเสียงของประเทศสมาชิกในกลุ่มธนาคารโลกให้มีความสมดุลและเหมาะสม 3. การรายงานภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกับ Asia and Pacific Department (APD) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ ?Navigating the Pandemic: Multi-Speed Recovery? APD ได้คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ สรุปได้ดังนี้

3.1 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2563 จะหดตัวลง ร้อยละ 2.2 จากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลงจากเดือนเมษายนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในสาธารณรัฐอินเดียได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะหดตัวร้อยละ 7.1 และจะมีการฟื้นตัวในปี 2564 ที่ร้อยละ 4.0

3.2 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคในอนาคต ได้แก่ มาตรการการเงินที่ผ่อนคลาย นโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการดำเนินการในอนาคต เช่น การให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินนโยบายการคลังที่กำหนดเป้าหมายชัดเจนและใช้ในเวลาที่เหมาะสม การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ