แนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการงานด้านการทำงานของคนต่างด้าว

ข่าวการเมือง Monday November 23, 2020 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการงานด้านการทำงานของคนต่างด้าวโดยการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการให้บริการรับคำขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (e-WorkPermitOS) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ รง. รับความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า

1. จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและแจ้งการทำงานตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมระหว่างปี พ.ศ. 2560 ? 2562 รวมทั้งหมด 2,935,231 ราย ดังนี้

ปี พ.ศ. /จำนวนคนต่างด้าว (ราย)

2560/ 774,065

2561/1,077,802

2562/1,083,364

รวม /2,935,231 2. กรมการจัดหางาน รง. มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และขอบเขตให้กับคนต่างด้าวเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

2.1 นายจ้างยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วยตัวเอง

2.2 เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจารณาคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวและอนุมัติคำขอใบอนุญาตทำงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

2.3 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปตรวจลงตราวีซ่าและรับใบอนุญาตทำงาน

2.4 นายจ้างแจ้งการเข้าทำงานและแจ้งออกจากงานของคนต่างด้าว 3. กระบวนการในการให้บริการการทำงานของคนต่างด้าวในปัจจุบันมีปัญหาหลายประการ เช่น ผู้รับบริการยังต้องเข้ารับบริการด้วยตัวเองเฉพาะในเวลาราชการ การบริการโดยการยื่นแบบคำขอพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดกระบวนการเป็นเวลา 3 วัน (ไม่รวมเวลาที่ผู้ใช้บริการต้องแก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมในกรณีที่เอกสารไม่ครบถ้วน) รง. (กรมการจัดหางาน) จึงได้มีแนวคิดการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการด้านการทำงานของคนต่างด้าว โดยจ้างเหมาเอกชนดำเนินการให้บริการรับ คำขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ(e-WorkPermitOS) สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

อำนาจหน้าที่

รายละเอียด

1. หน้าที่ของเอกชน : การจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ วัสดุ และบุคลากรในการให้บริการ ดังนี้

1.1 จัดหาที่ตั้งศูนย์ให้บริการใบอนุญาตทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

1.2 นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยแอปพลิเคชันในอุปกรณ์โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน (Smartphone) หรือแท็บเล็ต (Tablet)

1.3 จัดหาและพัฒนาระบบสารสนเทศในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย

(1) ระบบสารสนเทศที่ให้บริการทั่วไป เช่น ระบบนัดหมาย ระบบติดตามผลการอนุญาต ระบบชำระคืนค่าธรรมเนียม ออกใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น

(2) ระบบสารสนเทศส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงาน เช่น ระบบติดตามงาน ระบบตรวจสอบยืนยันหรือรับรองตัวบุคคล เป็นต้น

(3) ระบบสารสนเทศที่ใช้งานโดยเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน เช่น ระบบนายทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบบฐานข้อมูลการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เป็นต้น

2. หน้าที่ของรัฐ : กำหนดนโยบาย วิธีปฏิบัติ และควบคุมการดำเนินงานของเอกชน โดยนายทะเบียนควบคุมระบบสารสนเทศเพื่อการให้บริการ เป็นผู้อนุญาต/ไม่อนุญาตให้มีการปฏิบัติงานของเอกชน สามารถสังเกตการณ์การทำงานของเอกชนแบบออนไลน์ (On-line)ในระหว่างปฏิบัติงาน สามารถเข้าถึงหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับระบบที่เอกชนกำลังใช้ปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา

ระยะเวลาดำเนินการ

10 ปี หรือกำหนดตามจำนวนใบอนุญาตทำงานที่ออกให้กับคนต่างด้าว จำนวน 15 ล้านใบอนุญาต แล้วแต่ว่ากรณีใดถึงก่อนเป็นเกณฑ์กำหนดระยะเวลาสัญญา

แหล่งงบประมาณในการจ้างเหมาเอกชน

1. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บได้ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) อนุญาตให้นำไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินจากเงินกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

2. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บที่ผู้รับบริการต้องชำระเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2558

4. การปรับปรุงกระบวนงานและรูปแบบการให้บริการงานด้านการทำงานของคนต่างด้าว โดยการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ จะส่งผลให้เกิดการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและการบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความทันสมัย เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และเกิดการให้บริการในรูปแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยี ดังนี้

การให้บริการออกใบอนุญาตทำงานระบบปัจจุบัน

1. สถานที่ให้บริการสำนักงานจัดหางานจังหวัด 87 ศูนย์

2. เทคโนโลยีสารสนเทศใช้ Mobile Application ในขั้นตอนการแจ้งเข้า ? แจ้งออกจากงานของคนต่างด้าว

3. ฐานข้อมูลมีฐานข้อมูลต่างด้าวหลายฐาน

4. การตรวจสอบบุคคล

  • ข้อมูลภาพใบหน้าคน
  • ข้อมูลเลขบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

5. ใบอนุญาตทำงาน4 รูปแบบ ได้แก่ บัตรพลาสติก แบบดิจิทัล แบบเล่ม และแบบกระดาษ

6. การเชื่อมโยงข้อมูล ข้อมูลคนต่างด้าวไม่สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนได้กับทุกหน่วยงาน

7. ความสะดวกในการบริการเข้ารับบริการด้วยตนเองที่สำนักงานจัดหางานเฉพาะในเวลาราชการ

8. การใช้ระบบทะเบียนอธิบดีและพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง

9. การใช้ลายเซ็นลายเซ็นปากกา (ใบอนุญาตทำงานแบบเล่ม)

10. ความโปร่งใส

  • ผู้ขอรับบริการตรวจสอบผ่านโทรศัพท์ ณ สำนักงานจัดหางานโดยตรง
  • การตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

11. ระบบเอกสารเอกสารรูปแบบกระดาษ

การให้บริการออกใบอนุญาตทำงานแบบจ้างเหมาเอกชน (Outsource)

1. สถานที่ให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 45 ศูนย์

2. เทคโนโลยีสารสนเทศใช้ Mobile Application ในทุกระบบการอนุญาต

3. ฐานข้อมูลมีฐานข้อมูลคนต่างด้าวฐานเดียว

4. การตรวจสอบบุคคล

  • ข้อมูลชีวมาตร (Biometrics Data) ได้แก่ ภาพใบหน้าและภาพม่านตา
  • การพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลแบบ 1 : 1 และ การระบุตัวบุคคล แบบ 1 : N*

5. ใบอนุญาตทำงาน2 รูปแบบ ได้แก่ บัตรพลาสติก และแบบดิจิทัล มี QR-Code และ Barcode

6. การเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถใช้ข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น รง. (กรมการจัดหางาน) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นต้น ได้

7. ความสะดวกในการบริการการบริการผ่านระบบให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ตลอด 24 ชั่วโมง

8. การใช้ระบบทะเบียน

  • เป็นระบบที่เจ้าหน้าที่จะต้อง Login เพื่อมอบหมายสิทธิ์ให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงาน
  • นายทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์สามารถควบคุม กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานได้ตลอดเวลาผ่านการโต้ตอบออนไลน์

9. การใช้ลายเซ็น- ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างจากอัตลักษณ์ของนายทะเบียนและคนต่างด้าว

  • กรณีบัตรพลาสติก ลายเซ็นของนายทะเบียนอาจลงรูปลักษณ์เหมือนลายเซ็นจากปากกา หรือซ่อนลายเซ็นไว้สามารถตรวจสอบได้

10. ความโปร่งใสสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนย้อนกลับได้ ผ่านระบบฐานข้อมูลที่บันทึกเก็บไว้

11. ระบบเอกสารเอกสารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

*หมายเหตุ : การพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลแบบ 1 : 1 เป็นการตรวจพิสูจน์ยืนยันกับต้นแบบที่เคยลงทะเบียนไว้เท่านั้น และการระบุตัวบุคคล แบบ 1 : N เป็นการตรวจพิสูจน์ยืนยันกับต้นแบบที่อยู่ในระบบทั้งหมด

5. แนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการงานด้านการทำงานของคนต่างด้าวฯ ยังมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลของแรงงานต่างด้าวได้อย่างรวดเร็วทันเวลา ซึ่งจะสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งในด้านการปกครองความมั่นคง และสาธารณสุข

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ