รายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

ข่าวการเมือง Monday November 23, 2020 18:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความ ตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามที่สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรเสนอ

2. ให้กระทรวงพาณิชย์รับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งผลการพิจารณาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะขององค์กรอิสระและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติ รายงาน และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา)

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมที่ก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CTPP) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษามีข้อสังเกตว่า

1) รัฐบาลควรสนับสนุนและเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว โดยเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและประชาชน รวมถึงเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบาย

2) ควรพิจารณาถึงภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงฯ

3) ควรมีกรอบของการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ

4) ควรผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลงฯ และมีประเด็นใดที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ หรือประเด็นใดที่อาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบก็สามารถกำหนดประเด็นเพื่อตั้งข้อสงวนไว้เบื้องต้นในการเจรจาได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ