ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

ข่าวการเมือง Monday November 23, 2020 18:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงาน IMT-GT (Draft Joint Statement of the Twenty-Sixth Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle Ministerial Meeting) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้ โดยสำนักงานฯ จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลังหากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ รวมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และเข้าร่วมการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงาน IMT-GT โดยผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ พร้อมทั้งร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ โดยไม่มีการลงนาม ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ

1. เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยประเทศสมาชิกรับทราบว่าสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจอัตราความยากจนและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และคาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่ออนุภูมิภาคและทั่วโลกต่อไป จึงสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ในการบรรเทาผลการทบจาก COVID-19 และเตรียมการเพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

2. แสดงผลการดำเนินงานและร่วมยินดีกับความสำเร็จของโครงการใน 7 สาขา คณะทำงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ในปีที่ผ่านมา โดยมีการดำเนินงานและโครงการที่สำคัญ ดังนี้ โครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จังหวัดยะลา (ไทย) และโครงการก่อสร้างทางด่วนเปกันบารู-ดูไม (อินโดนีเซีย) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในอนุภูมิภาคให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น การเจรจาจัดทำ FoC in CIQ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเตรียมจะให้มีการลงนามในปี 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขั้นตอนการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนระหว่างกันในอนุภูมิภาค การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างกันในระดับอนุภูมิภาค และการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบรายสาขาของสภาเทศมนตรีเมืองสีเขียวเพื่อทำให้กรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (2562 - 2579) เกิดผลในทางปฏิบัติ

3. ระบุถึงแนวทางของแต่ละสาขาความร่วมมือเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ในระยะต่อไป โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ การส่งเสริมให้นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและการตลาดของสินค้าและอุตสาหกรรมการเกษตร การส่งเสริมให้นำขั้นตอนการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสาธารณสุขมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนของแผนงาน IMT-GT เพื่อสร้างความมั่นใจต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค การพัฒนาระบบนิเวศ อุตสาหกรรมฮาลาลให้เข้มแข็ง การสร้างความร่วมมือระหว่างเมืองยางพาราของประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค และการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะใหม่สำหรับแรงงานในอนุภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการศึกษาและการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะชีวิตวิถีใหม่

4. รับทราบรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560 - 2564 โดยเป็นรายงานที่ระบุถึงความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะสำหรับการยกระดับการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT นอกจากนี้ ข้อมูลรายงานดังกล่าวจะเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2565 - 2569 ต่อไป

5. รับทราบรายงานผลการศึกษาเรื่องการทบทวนระเบียงเศรษฐกิจและการบูรณาการเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศ แผนงาน IMT-GT โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ระบุถึงข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงจากระเบียงคมนาคมขนส่งไปสู่การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 ภายใต้แผนงาน IMT-GT เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างทั่วถึง ตลอดจนการเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาและบูรณาการเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้แผนงาน IMT-GT เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตในอนุภูมิภาค

6. ยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อไป รวมทั้งเปิดรับการสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาใหม่ ๆ โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชียและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนต่อไป ขณะเดียวกันจะแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IsDB) และศูนย์ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลกของสถาบันภายใต้ความร่วมมือกับโครงการสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม (IGES/CCET) เป็นต้น

ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ในการเข้าร่วมประชุมฯ มีดังนี้

1) ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT เป็นกรอบความร่วมมือหนึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนราชการส่วนกลางและจังหวัดในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ

2) สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป อาทิ การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ IMT-GT เป็นอนุภูมิภาคการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเร่งรัดความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาศักยภาพผู้ฝึกอบรมด้านการตลาดดิจิทัล เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ