รายงานสรุปผลการดำเนินการต่อข้อเสนอแนะของรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

ข่าวการเมือง Tuesday December 8, 2020 18:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการต่อข้อเสนอแนะของรายงานคู่ขนาน การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ โดยได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) สำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กรมพระธรรมนูญ และกองการต่างประเทศ ยธ. แล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 สรุปได้ ดังนี้

ข้อเสนอแนะของ กสม. - สรุปผลการพิจารณา
1. กฎหมายภายในรัฐบาลควรพิจารณาการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ห้ามการเลือกปฏิบัติในภาพรวมเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

ปัจจุบันกฎหมายภายในของประเทศไทยที่มีอยู่ไม่ขัดต่อหลักการของอนุสัญญาฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตาม ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... เพื่อให้เป็นกฎหมายกลางในการขจัดการเลือกปฏิบัติในภาพรวมต่อไป 2. กลุ่มคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ

2.1 รัฐบาลควรสำรวจจำนวนผู้สูงอายุไร้สัญชาติและคนไร้สัญชาติที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร แต่ได้เข้ามาอยู่อาศัยจนมีความกลมกลืนกับสังคมไทย รวมถึงสาเหตุของความไร้สัญชาติ และสภาพปัญหาที่บุคคลดังกล่าวต้องประสบ รวมทั้งควรมีนโยบายให้กระบวนการให้สัญชาติแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ประชาชนทุกคนที่มีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และมีเอกสารประกอบการพิจารณาที่เป็นไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดสามารถเข้าถึงสิทธิในสัญชาติได้

กรณีกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ มท. โดยกรมการปกครองได้สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้ว และได้แก้ไขสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหาหลักฐานการเกิดเพื่อมาใช้วิธีการขอสัญชาติ โดยให้นายทะเบียนใช้วิธีการสอบปากคำพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือใช้กระบวนการประชาคมหมู่บ้าน หรือการรับรองโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อยืนยันว่าผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยแทนหลักฐานการเกิดและได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติให้กับกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติอย่างจริงจังและเร่งด่วน

กรณีคนไร้สัญชาติที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร แต่เข้ามาอยู่อาศัยจนมีความกลมกลืนกับสังคมไทย มท. ได้เสนอขอแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพ เข้ามาและอยู่มานานตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายแล้ว (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สมช.) และได้แก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ซึ่งอนุมัติหลักเกณฑ์การให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

2.2 รัฐบาลควรเร่งตรวจสอบหาสาเหตุของการจำหน่ายชื่อบุคคลออกจากทะเบียนราษฎร และแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว (กรณีอำเภอแม่แตง และเวียงแห) และควรกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานจนกว่าจะได้รับสถานะกลับคืน รวมทั้งกำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว

กรณีการจำหน่ายชื่อบุคคลออกจากทะเบียนราษฎร อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มท. โดยกรมการปกครอง ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลเหตุต้องสงสัยกระทำการทุจริต และได้ทำการคืนรายการบุคคลเรียบร้อยแล้ว จำนวน 70 ราย สำหรับกรณีกลุ่มบุคคลที่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ทร. 13) โดยอ้างการปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 105 โดยไม่มีทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อย จะต้องตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนชาวเขาหรือการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ โดยบุคคลที่มีหลักฐานทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อย ให้ขอคืนรายการบุคคล ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักฐานดังกล่าวให้ถือว่าการจำหน่ายรายการบุคคลนั้นถูกต้องแล้ว

กรณีอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุการจำหน่ายชื่อบุคคลออกจากทะเบียนราษฎร เนื่องจากสำนักทะเบียนไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางหนังสือสั่งการเกี่ยวกับการขอคืนรายการทะเบียนบุคคล จึงทำให้ต้องส่งคำร้องคืนหรือแจ้งกลับเพื่อให้ดำเนินการเพิ่มเติมส่งผลให้เกิดความล่าช้า ไม่มารายงานตัวตามระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ สำนักทะเบียนกลาง ได้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง แนวทางปฏิบัติ โดยจะคืนรายการทะเบียนเป็น ?บุคคลถูกระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนอยู่ระหว่างรอรายงานตัว? เมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานแล้ว เชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของรายการและ มีคุณสมบัติถูกต้อง ให้เสนอนายอำเภอหรือนายทะเบียนเพื่อยกเลิกการระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียน

ปัจจุบัน มท. โดยกรมการปกครอง ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิต่อกรณีการจำหน่ายรายการบุคคลออกจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและการระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สม.) กรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล โดยจะได้บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

2.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงทำความเข้าใจกับคนไทยพลัดถิ่นเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอคืนสัญชาติ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) รวมทั้งอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเพื่อให้ได้รับสัญชาติโดยเร็ว และรัฐบาลควรมีนโยบายให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนกลุ่มนี้ รวมถึงสิทธิด้านการศึกษา สวัสดิการ และการประกอบอาชีพ

มท. โดยกรมการปกครอง ได้ทำความเข้าใจกับคนไทยพลัดถิ่นเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอคืนสัญชาติ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นมาโดยตลอด ผ่านการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ มุลนิธิชุมชนไท และ สม. โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้งานสถานะบุคคลและสัญชาติ เป็น 1 ใน 10 โครงการสำคัญของกรมการปกครอง โดยกำหนดเป้าหมาย จำนวน 13,300 ราย ทั้งนี้ กรมการปกครองได้แก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น โดยได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแล้ว จำนวน 7,712 ราย อนุมัติเปลี่ยนแปลงสถานะของบุคคลในเอกสารการทะเบียนราษฎร จำนวน 3,285 ราย รวมคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นทั้งสิ้น จำนวน 10,997 ราย

สำหรับกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการคืนสัญชาติไทย รัฐบาลมีนโยบายให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนี้ (1) ด้านการรักษาพยาบาล (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 และวันที่ 20 เมษายน 2558) ให้ สธ. รับผิดชอบการรักษาพยาบาลให้กับคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่รัฐบาล มีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลและกลุ่มที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ (2) ด้านการศึกษา (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548) ให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่งรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยทุกคนเข้าศึกษาเล่าเรียน และเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องออกหลักฐานรับรองผลการเรียนให้ทุกราย (3) ด้านการประกอบอาชีพ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559) ให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและ สิทธิของบุคคล ทำงานได้ทุกประเภทงาน 3. กลุ่มคนไทยเชื้อสายมลายู

3.1 รัฐบาลควรส่งเสริมหลักนิติรัฐโดยติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐให้อยู่ในกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด

กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย และหากมีเจ้าหน้าที่กระทำการ ฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการทั้งทางอาญา แพ่ง และทางวินัย พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากกลุ่มองค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการจัดตั้งสภาสันติสุข สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของตำบล และมีส่วนร่วมในการแจ้งความเห็นการไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติและเน้นการทำงานที่โปร่งใส เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกผ่านเว็บไซต์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งที่ผ่านมาได้แจ้งข้อมูลข่าวสารจนนำไปสู่การติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้หลายราย

3.2 รัฐบาลควรเร่งรัดกระบานการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยยึดหลักความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ร่วมกับ 5 หน่วยงานคือ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุข และ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลทุกคนบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติยึดถือตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนอกเหนือหลักเกณฑ์ตามระเบียบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)

3.3 รัฐบาลควรเคารพวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู และปรับปรุงการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ภาษามลายูท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทย

หน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานใน จชต. ยืนยันว่าการดำเนินงานต่าง ๆ ใน จชต. ยึดหลักตามยุทธศาสตร์พระราชทาน ?เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา? เป็นแนวคิดในการปฏิบัติงาน ซึ่งทุกหน่วยงานให้ความสำคัญและมีความระมัดระวังในการเคารพวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ตลอดจนการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ อันจะเป็นการเสริมสร้างความพร้อมใน การปฏิบัติหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

3.4 รัฐบาลควรดำเนินมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ใช้ความระมัดระวัง ไม่สร้างความรู้สึกแบ่งแยก

มท. โดยกรมการปกครอง ได้ดำเนินการตามโครงการตรวจพิสูจน์ สารพันธุกรรม (DNA) เพื่อนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ รวมทั้งเป็นมาตรการช่วยสร้างหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 1,392 ราย

3.5 รัฐบาลควรมีมาตรการทางสังคมและการศึกษาเพื่อสร้างความกลมเกลียวระหว่างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกับชาวไทยพุทธในพื้นที่ให้มากขึ้น

หน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานใน จชต. ได้ดำเนินมาตรการทางสังคมและการศึกษาเพื่อสร้างความกลมเกลียวระหว่างไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกับชาวไทยพุทธในพื้นที่ ในการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียนในพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ตลอดจนการยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยกำหนดให้วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม รวมทั้งศาสนาอื่นเป็นวันหยุดราชการประจำปีในพื้นที่ด้วย

3.6 รัฐบาลควรดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิด ต้องมีการลงโทษทางวินัยและทางอาญาอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับโทษ

กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า มีแนวนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายมั่นคงตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักการอื่น ๆ ขององค์การสหประชาชาติ หลีกเลี่ยงการตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้าน ชุมชน วัด โรงเรียน มัสยิด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะเด็ก บุคลากรทางการศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ ยังมีการวางแนวทางปฏิบัติสำหรับการตั้งด่านตรวจ การตรวจค้น การติดตามจับกุม การควบคุมตัว และการใช้อาวุธให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและจารีตประเพณีท้องถิ่น โดยดำเนินการตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายเท่านั้น และมี การติดตามให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตามระเบียบ

3.7 รัฐบาลควรทบทวนประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใน จชต. โดยควรบังคับใช้เท่าที่จำเป็นและในระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น

คณะรัฐมนตรีมีมติ (วันที่ 12 กันยายน 2560) เห็นชอบแผนการและขั้นตอนการปรับลดพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทน ที่ผ่านมามีการปรับลดพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคงเหลือ 28 อำเภอ (จากทั้งหมด 33 อำเภอ) ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มี ความร้ายแรงในพื้นที่ จชต. และเจ้าหน้าที่ทุกคนได้คำนึงถึงความถูกต้องและ ความจำเป็นในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

3.8 รัฐบาลควรเร่งรัดให้มีกฎหมายอนุวัติให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาปสูญโดยถูกบังคับ

คณะรัฐมนตรีมีมติ (วันที่ 23 มิถุนายน 2563) เห็นชอบต่อ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะนำเสนอ สภาผู้แทนราษฎรตามลำดับต่อไป

3.9 รัฐบาลควรกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส

บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายด้านความมั่นคงจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ดังนี้

1) ระเบียบวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เป็นมาตรการกำกับไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอันขาด ซึ่งรวมถึงการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการตั้งด่าน การค้นตัวบุคคล และพื้นที่ต้องสงสัย รวมทั้งการกักตัวเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งสามารถทำได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องประสานผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน และหากนำตัวออกจากพื้นที่ไปสอบถาม ต้องแจ้งญาติพี่น้องของผู้ถูกควบคุมตัวให้ทราบ และอนุญาตให้ญาตใกล้ชิดสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ตั้งแต่ วันแรกนับแต่ถูกควบคุมตัว หากผู้ต้องสงสัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต้องรีบปล่อยตัวทันที และเมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว สำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. จะจัดให้มีการเยียวยาทั้งการเยียวยาจิตใจจากการกักตัว คนละ 30,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้

2) ระเบียบและวิธีการปฏิบัติในการจับกุมและควบคุมตัวตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นมาตรการควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้สามารถจับกุมโดยพลการ หากมีความประสงค์ที่จะทำการควบคุมตัว จะต้องขออำนาจศาล เมื่อศาลพิจารณาอนุญาตให้ควบคุมตัวจะทำได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน หากมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อ ต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย โดยพิจารณาถึงความจำเป็นร่วมกันในการขออำนาจศาลควบคุมตัวต่อไปได้ อีกคราวละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของศาล และ ในระหว่างการควบคุมตัว ญาติของบุคคลต้องสงสัยสามารถเข้าเยี่ยมได้ตั้งแต่วันแรกของการควบคุมตัว

3.10 กรณีการเสนอให้รัฐอนุญาตให้ กสม. สามารถตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว หรือพบผู้ถูกควบคุมตัวได้ทันทีเมื่อได้รับการร้องเรียนเพื่อให้สามารถตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงตามหน้าที่และอำนาจได้โดยเร็ว

กสม. สามารถเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว หรือพบผู้ถูกควบคุมตัวได้ โดยจะต้องดำเนินการตามระเบียบและแนวปฏิบัติของหน่วยงาน ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4. กลุ่มชาติพันธุ์

4.1 รัฐบาลควรยุติการจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมถึงชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจัดให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิว่าเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อน การประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ การจะขับไล่หรือไล่รื้อต้องดำเนินการหลังจากมีการพิสูจน์สิทธิและคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น

การดำเนินคดีและจับกุม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า แลพันธุ์พืช ชี้แจงว่า จะดำเนินการกับผู้ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้เท่านั้น หากมีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ภายหลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และกรณีที่มีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เช่น การซื้อขายเปลี่ยนมือ บุกรุกเพิ่มเติม ฯลฯ แต่สำหรับกรณีราษฎรผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินจะได้รับ การตรวจสอบและพิจารณาตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 แต่หากเป็นการกระทำผิดภายหลังคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นราษฎรทั่วไป หรือกลุ่มชาติพันธุ์

4.2 รัฐบาลควรทบทวนปรับปรุงขั้นตอนก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ และแนวทางการจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐในเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติควรผนวกมิติทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ด้วย โดยยอมรับการมีส่วนร่วมของชุมชน

การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดรับฟังความคิดเห็นและเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยเขตที่จะทำการประกาศต้องมีการสำรวจพื้นที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเดิมของราษฎร โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเสมอ สำหรับการจัดการข้อพิพาท และการประกาศมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ยึดถือหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนเช่นเดียวกัน โดยใน การดำเนินการทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลัง จะต้องมีการหารือประชาชนหรือชุมชนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

4.3 รัฐบาลควรพิจารณาศึกษาความเหมาะสมของแนวทางการทำเกษตรแบบยังชีพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในรูปแบบ ?ไร่หมุนเวียน?

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว สามารถขอรับการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและการทำไร่หมุนเวียน จาก กษ. ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการดูแลประเด็นดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ในหลักการ ปลูกพืชเพื่อทำไร่หมุนเวียนนั้น จะต้องกำหนดมาตรการและแนวทาง การปฏิบัติที่ชัดเจน โดยจะต้องสามารถควบคุม กำกับ และตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการเปิดพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มเติม

4.4 รัฐบาลควรดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มี การปรับปรุงแก้ไขใหม่ ได้กำหนดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องใน การจัดการพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของราษฎรในชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ให้สามารถอยู่อาศัยภายในเขตอุทยานแห่งชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการเข้าใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ในพื้นที่ เพื่อให้คงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของชุมชนเดิม และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

4.5 รัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แล้ว แต่จะดำเนินการได้หลังจากที่ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว [ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ตามลำดับต่อไป]

4.6 รัฐบาลควรพิจารณาให้ชนเผ่ามานิกลุ่มที่ต้องการดำรงชีวิตตามภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อยู่ในพื้นที่สมบูรณ์ ลดการให้ความช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ เช่น การแจกข้าว อาหาร เสื้อผ้า ซึ่งจะทำให้ชนเผ่ามานิสูญเสียอัตลักษณ์และศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองและธรรมชาติ ส่วนกลุ่มที่ประสงค์จะตั้งถิ่นฐานถาวรและทำการเกษตรควรจัดสรรพื้นที่ให้ตามความเหมาะสม

กลุ่มชาติพันธุ์มานิ หรือ ซาไก ที่มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งถาวรและได้รับการรับรองสถานะบุคคลแล้ว สามารถได้รับการพิจารณาเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินภายในเขตป่าอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และพระราชบัญญัติป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ หรือ ซาไก ที่มีวิถีแบบดั้งเดิมอยู่อาศัยในป่าเคลื่อนย้ายที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หากมีความจำเป็นต้องดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ทดแทนได้ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 65 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 57 5. กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

5.1 รัฐบาลควรบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการลักลอบนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้อง

ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการลักลอบ นำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้อง โดย รง. ได้แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ? 2564 และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากลและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เพื่อปรับลดขั้นตอนระยะเวลาในการนำเข้าแรงงาน ด้วยการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมแรงงานข้ามชาติก่อนเข้ามาทำงานในประเทศ และได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง/สถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ รง. ได้ร่วมมือทางวิชาการกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ผ่านโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง โครงการความปลอดภัยและยุติธรรม และร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาจัดโครงการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ รง. และ สมช. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 ? 2565) โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กลยุทธ์ที่ 1 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบและจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้จัดหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องด้วย

5.2 รัฐบาลควรทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการรับรองสัญชาติของเด็กที่เกิดจากแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อป้องกันปัญหาเด็กไร้สัญชาติภายในประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการจดทะเบียนการเกิดของเด็ก การรับรองสัญชาติและการสมรสของแรงงานดังกล่าวด้วย

สธ. ได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการเกิดให้เด็กที่เกิดจากบุคคลที่เป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และได้แจกจ่ายให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ทั่วประเทศเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน อยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

5.3 รัฐบาลควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว

รง. อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยได้มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศในการร่วมกันศึกษาและ นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงกฎหมายให้มีบทบัญญัติสอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการรอพิจารณาวาระที่ 2 และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีสำหรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ 87 นั้น รง. จะดำเนินการในลำดับถัดไป 6. กลุ่มผู้อพยพ/ผู้แสวงหาที่พักพิง

6.1 รัฐบาลควรเร่งพิจารณาดำเนินการตามระบบคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560

ปัจจุบันได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 แล้ว โดยจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรอง คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศ อันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 แล้ว ปัจจุบัน สตม. อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครองซึ่งเป็นผู้แทน จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามระเบียบฯ ดังกล่าว ต่อไป

6.2 รัฐบาลควรแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต้นทางและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อรับชาวโรฮีนจากลับภูมิลำเนา หากรายใดไม่สามารถส่งกลับได้เนื่องจากอาจเป็นอันตราย ควรพิจารณาประสานและทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามต่อไป

สมช. และ สตม. ได้ดูแลผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มนี้เป็นไป ตามหลักมนุษยธรรม กรอบกฎหมายภายใน และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการไทยได้ประสานผ่านช่องทาง การทูตทั้งเมียนมาและบังกลาเทศเพื่อให้เข้ามาพิสูจน์อัตลักษณ์และยืนยัน ความเป็นพลเมืองของชาวโรฮีนจา ซึ่งบังกลาเทศได้เข้ามาพิสูจน์อัตลักษณ์และยืนยันความเป็นพลเมืองจนสามารถรับกลับประเทศแล้วจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ไทยยังดำเนินการร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติในการสนับสนุนให้ชาวโรฮีนจาไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามด้วย

6.3 รัฐบาลควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย

สมช. ได้จัดประชุมเพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทบทวนท่าทีของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

6.4 รัฐบาลควรพิจารณาแก้ไขปัญหาความแออัดของห้องกักและจัดให้มีระบบรักษาพยาบาลผู้ต้องกักที่เจ็บป่วยอย่างเหมาะสม

สตม. ได้มีคำสั่งกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการรับตัว การควบคุมและดูแลคนต่างด้าว โดยกำหนดแนวทางการดูแลผู้ต้องกักไว้ให้ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ?การรักษาพยาบาล? ซึ่งสถานที่กักตัวหรือด่านตรวจคนเข้าเมืองได้จัดเตรียมยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบในการนำผู้ต้องกักที่มีอาการเจ็บป่วยส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่น ๆ และกำหนดให้สถานที่กักตัวหรือด่านตรวจคนเข้าเมืองประสานงานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีการส่งตัวผู้ต้องกักไปรักษาโดยจัดให้มีสถานที่เฉพาะสำหรับผู้ต้องกักที่เจ็บป่วยเพื่อสะดวกต่อการควบคุม พร้อมทั้งงจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุม ดูแลอย่างใกล้ชิด

6.5 รัฐบาลควรพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการควบคุมตัวผู้อพยพไว้ในห้องกักของ สตม.

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 ตช. พม. กต. มท. สธ. ศธ. รง. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความตกลง เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทน การกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางปฏิบัติงานของ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการไม่กักตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไว้ในสถาน กักตัวฯ ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีเห็นชอบขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานภายใต้บันทึกฯ ดังกล่าวแล้ว โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน อยู่ระหว่าง การยกร่างคู่มือแนวทางการปฏิบัติงาน ตามบันทึกฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคปฏิบัติงานในทิศทางเดียวกัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ