มาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน

ข่าวการเมือง Tuesday December 15, 2020 18:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรการฯ ไปพิจารณาดำเนินการ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า

1. ปัญหาการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถานเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่า มีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร กรณีดังกล่าวเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำและ ทัณฑสถานกระทำการทุจริตเป็นสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจและรับผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ต้องขังหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นผู้ต้องขังหรือเจ้าหน้าที่ด้วยกัน หรือเกิดความเกรงใจไม่กล้าตรวจค้นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า ซึ่งที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการป้องกันการซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน เช่น การให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา การตรวจค้นผู้ที่เกี่ยวข้อง และการจู่โจมตรวจค้นเรือนจำและทัณฑสถาน แต่ก็ยังปรากฏข้อเท็จจริงในการลักลอบซื้อยาเสพติดภายในเรือนจำและทัณฑสถานมาโดยตลอด

2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 96/2563 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน และให้นำเสนอคณะรัฐมาตรีพิจารณาตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 รวม 4 กรณี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

มาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

1. กรณีผู้ต้องขังภายในเรือนจำที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงินสามารถติดต่อสั่งการค้ายาเสพติดได้อย่างอิสระกับเครือข่ายภายนอกเรือนจำ

  • ให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศห้ามเจ้าหน้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ในเรือนจำและทัณฑสถาน
  • ให้มีกระบวนการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการตรวจจับสัญญาณการโทรออกเป็นรายวัน โดยส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบเพื่อจะลงโทษผู้บัญชาการเรือนจำ และขยายผลการปราบปราม
  • ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้รับอนุญาตด้านโทรคมนาคมที่ต้องดูแลด้านความมั่นคงของรัฐ เมื่อได้รับการร้องขอ ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับใบอนุญาตที่ต้องดำเนินการในทุก ๆ ด้าน หากไม่สามารถทำได้อาจจะถูกพิจารณาเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตหรือยกเลิกใบอนุญาต

2. กรณีการตรวจพบยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน

  • ให้กรมราชทัณฑ์เปิดเผยผลการตรวจจับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายในเรือนจำและทัณฑสถานให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยเปิดเผยผลการดำเนินการเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายในเรือนจำและทัณฑสถานด้วย

3. กรณีผู้ต้องขังให้สินบนกับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ทำให้เกิดการซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน

  • ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาประกาศกำหนดตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
  • ให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยกรมราชทัณฑ์จัดทำแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินคดีอาญาและการลงโทษทางวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

4. กรณีผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงินสามารถสั่งการให้เครือข่ายค้ายาเสพติดข่มขู่หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่

  • ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชทัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) จัดให้มีชุดปฏิบัติการพิเศษร่วมมือทำงานเป็นการถาวร สังเกตการณ์ควบคุมดูแลผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายใหญ่ที่ถูกคุมตัวในเรือนจำความมั่นคงสูงสุด เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งรัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง โดยให้กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ และให้รัฐบาลมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแล
  • เนื่องจากบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจถูกบีบบังคับจากผู้มีอิทธิพล และเมื่อร้องเรียนตามกระบวนการแต่ไม่มีผลการดำเนินการที่จะคุ้มครองเจ้าหน้าที่ได้ ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ร้องเรียนต่อชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ