รายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562

ข่าวการเมือง Wednesday December 23, 2020 09:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้

1. รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562

2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 และครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562 รวมทั้งมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562

1.1 การดำเนินการในปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจจำนวนรวมทั้งสิ้น 53 แห่ง โดยระบบการประเมินผลฯ เป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำระบบคุณภาพมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ การยกระดับการบริหารจัดการข้าสู่มาตรฐานระดับสากล การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้กับระบบงานต่าง ๆ ขององค์กร การยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ และการพัฒนาระบบบริการสาธารณะจากการพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง

1.2 สถานภาพและผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1.2.1 ณ สิ้นปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจในระบบประเมินผลฯ มีสินทรัพย์รวม 15.90 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 4.37 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4.79 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.55 และค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 1.37 จากปี 2561 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้กำไรสุทธิโดยรวมลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวม และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 6.46 และ 3.94 ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราส่วนร้อยละ 6.62 และ 4.37 ตามลำดับ

1.2.2 สาขาที่มีกำไรสุทธิมากที่สุด คือ สาขาพลังงาน สาขาสถาบันการเงิน และสาขาขนส่ง ตามลำดับ โดยรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

1.2.3 รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสุทธิ มีจำนวน 15 แห่ง (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมี 11 แห่ง) ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)1 บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การจัดการน้ำเสีย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การสะพานปลา องค์การคลังสินค้า (อคส.) การยางแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผล

ภาพรวม

  • รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องทบทวนและปรับตัวให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ความปกติใหม่และความปกติรูปแบบถัดไป ทั้งในส่วนของกระบวนการทำงาน การให้บริการแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และการวางแผนบุคลากร
  • รัฐวิสาหกิจต้องเตรียมการรองรับหรือมีแผนสำรองทางธุรกิจ และเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงในมุมมองต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันกาลเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
  • รัฐวิสาหกิจในสาขาขนส่ง สื่อสาร พลังงาน และสาธารณูปการ ควรศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนแทนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน และใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมจากภาคเอกชน

สาขาเกษตร

รัฐวิสาหกิจสาขาเกษตรทั้งหมดมีผลการประเมินในระดับต่ำ โดย อ.ต.ก. และ อคส. มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่ง อ.ต.ก. ประสบปัญหาสภาพคล่องและ อคส. มีปัญหาการจัดทำรายงานทางการเงิน รวมทั้งภารกิจด้านการบริหารตลาดสินค้าของ อตก. และการบริหารคลังสินค้าของ อคส. มีเอกชนดำเนินการได้ดี จึงต้องเร่งทบทวนบทบาทหรือพิจารณาการคงอยู่ของรัฐวิสาหกิจสองแห่งดังกล่าวก่อนที่จะเกิดความเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน

สาขาทรัพยากรธรรมชาติ

รัฐวิสาหกิจสาขาทรัพยากรธรรมชาติมีผลการประเมินดีขึ้น แต่ยังคงประสบปัญหาการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คณะกรรมการมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วน และการบริหารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สาขาสื่อสาร

  • บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) ต้องเร่งจัดทำแผนการบริหารตลาดและรายได้ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย และพิจารณาความเสี่ยง ต่าง ๆ เพื่อรองรับการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการลงทุนในอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบ 5G และต้องร่วมกันวางแผนงานเกี่ยวกับระบบ 5G และการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อรองรับกรณีการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 (เรื่อง การควบรวมกิจการของ บมจ. กสท. และ บมจ. ทีโอที) ด้วย
  • บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต้องเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การทบทวนสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท.) เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบัน บมจ. อสมท. ประสบปัญหากระแสเงินสด ความสามารถในการแข่งขัน และการดำเนินกิจการ จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

สาขาพลังงาน

  • รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานและการให้บริการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และควรปรับปรุง/ขยายการดำเนินงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอนาคต
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้โดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว รวมถึงวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตในอนาคตด้วย

สาขาขนส่ง

ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

  • การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมทั้งหมดให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรองรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ การเดินทางของประชาชน และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหรือการติดตามการดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและพัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความทันสมัย
  • การเพิ่มการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • รัฐวิสาหกิจที่มีสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น รฟท. ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์ให้มีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อลดภาระการขาดทุน

สาขาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

  • การมุ่งเน้นการพัฒนาบริการและขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
  • การปล่อยสินเชื่อให้รอบคอบยิ่งขึ้นและการหาแนวทางป้องกันสินเชื่อเดิมไม่ให้เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น
  • การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เช่น นำฐานข้อมูลที่มีมาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการติดตาม รวมทั้งควรรายงานผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี เพื่อให้สามารถติดตามและกำหนดนโยบายแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  • การบริหารเงินกองทุนและความเสี่ยงให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ และการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีการด้อยค่าของสินทรัพย์ และประเด็นอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการบริหารความเพียงพอของเงินกองทุน
  • การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความเข้าใจให้บุคลากรยอมรับต่อ การเปลี่ยนแปลงและการจัดการความรู้
  • การเตรียมการรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยฉบับที่ 9
  • การแบ่งปันทรัพยากรระหว่างรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบการทำงานพื้นฐานของธนาคารและระบบบริการธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

สาขาสาธารณูปการ

ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายขอบเขตการบริการ รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และสร้างโอกาสให้กับประชาชน
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสีย ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และยกระดับการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
  • การบริหารโครงการลงทุนต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือ เช่น การบริหารโครงการและการป้องกันความเสี่ยง

สาขาสังคมและเทคโนโลยี

ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

  • การเร่งติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย และการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • การทบทวนทิศทางและเป้าหมายของการดำเนินงานให้มีความชัดเจน

โดยการเทียบเคียงคู่เทียบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่อไป

  • การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจหลักให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาขาอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม

ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

  • การพิจารณาทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
  • การศึกษาความต้องการของตลาดหรือความต้องการของลูกค้าให้ชัดเจน ก่อนเริ่มการพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่องค์กร
  • การทบทวนความเหมาะสมและความจำเป็นของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เนื่องจากการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์การจัดตั้งเดิม

[1] พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ