แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 - 2568)

ข่าวการเมือง Wednesday December 23, 2020 10:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 - 2568) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณและการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ
แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

ในปี 2565 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 ? 4.0 (ค่ากลางร้อยละ 3.5) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 ? 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) สำหรับในปี 2566 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7 ? 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) และจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 ? 3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ในปี 2567 และร้อยละ 3.2 ? 4.2 (ค่ากลางร้อยละ 3.7) ในปี 2568 และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 ? 1.7 ในปี 2566 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 ในปี 2567 และร้อยละ 0.9 ? 1.9 ในปี 2568 2. สถานะและประมาณการการคลัง

2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2565 - 2568 เท่ากับ 2,400,000 2,490,000 2,619,500 และ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ การจัดทำประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายทางภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)

2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2565 - 2568 เท่ากับ3,100,000 3,200,000 3,310,000 และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 ? 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 - 4 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น

2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2565 - 2568 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 700,000 710,000 690,500และ 669,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 3.9 3.6 และ 3.4 ต่อ GDP ตามลำดับ

2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565 - 2568 เท่ากับร้อยละ 57.6 58.6 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ 3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ส่งผลกระทบให้ภาคเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังได้ดำเนินนโยบายและมาตรการทางการคลังโดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเยียวยา พื้นฟู และกระตุ้นศรษฐกิจจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19 ที่ก่อให้เกิดการขาดดุลเงินสดมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ และเงินคงคลังลดลง จึงต้องระมัดระวังการบริหารจัดการสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ภายใต้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลางจำเป็นต้องมีการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์ที่ผ่านมาและพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวยังควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด โดยมีประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลาง ดังนี้

ปี 2564

ปีงบประมาณ 2564

รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,677,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) -2

งบประมาณรายจ่าย3,285,962.50

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 2.7

ดุลการคลัง -608,962.50

ดุลการคลังต่อ (GDP) ร้อยละ-3.7

หนี้สาธารณะคงค้าง 9,081,326

หนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ (GDP) (ร้อยละ) 56

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)16,550,200

ปี 2565

ปีงบประมาณ 2565

รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,400,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) -10.3

งบประมาณรายจ่าย 3,100,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 5.7

ดุลการคลัง -700,000

ดุลการคลังต่อ (GDP) ร้อยละ-4

หนี้สาธารณะคงค้าง 9,772,428

หนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ (GDP) (ร้อยละ) 57.6

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 17,328,000

ปี 2566

ปีงบประมาณ 2566

รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,490,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 3.8

งบประมาณรายจ่าย 3,200,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 3.2

ดุลการคลัง -710,000

ดุลการคลังต่อ (GDP) ร้อยละ -3.9

หนี้สาธารณะคงค้าง10,409,697

หนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ (GDP) (ร้อยละ) 58.6

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 18,090,500

ปี 2567

ปีงบประมาณ 2567

รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,619,500

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 5.2

งบประมาณรายจ่าย 3,310,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 3.4

ดุลการคลัง -690,500

ดุลการคลังต่อ (GDP) ร้อยละ -3.6

หนี้สาธารณะคงค้าง10,971,967

หนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ (GDP) (ร้อยละ) 59

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 18,940,700

ปี 2568

ปีงบประมาณ 2568

รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,750,500

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 5

งบประมาณรายจ่าย 3,420,000

อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 3.3

ดุลการคลัง -669,500

ดุลการคลังต่อ (GDP) ร้อยละ -3.4

หนี้สาธารณะคงค้าง11,458,221

หนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ (GDP) (ร้อยละ) 58.7

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 19,906,700

ที่มา : กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะผ่านแนวทางการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง 3Rs ประกอบด้วย (1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ (2) Reshape หรือการปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ และ (3) Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ ดังนี้

3.1 Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ โดยในระยะสั้น และระยะปานกลาง รัฐบาลควรมุ่งเน้นการทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาระบบการจัดเก็บให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับในระยะยาวจะต้องวางแผนปฏิรูประบบภาษีอากร และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร เพื่อให้รายได้จากภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงในการพัฒนาประเทศต่อไป

3.2 Reshape หรือการปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ โดยดำเนินการควบคุมการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนสำคัญต่าง ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน รวมทั้งชะลอ ปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรกำหนดกลยุทธ์ในการจัดโครงสร้างแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

3.3 Resilience หรือ การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) ในการบริหารหนี้สาธารณะผ่านการกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อให้ Portfolio หนี้รัฐบาลมีภูมิคุ้มกันรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ ในอนาคตได้ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศเพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ดำเนินกลยุทธ์การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงของเครื่องมือในการกู้เงินและตอบสนองนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ